กรมส่งเสริมการเกษตรหนุนเกษตรกรจังหวัดยะลาพัฒนาทุเรียนคุณภาพตามมาตรฐาน GAP เน้นรวมกลุ่มแปลงใหญ่สร้างเครือข่ายเข้มแข็ง พร้อมกำหนดแนวทางพัฒนาและบริหารจัดการทุเรียนทั้งระบบสร้างเสถียรภาพด้านราคาในภาคใต้ตอนล่าง
ว่าที่ร้อยตรี สมสวย ปัญญาสิทธิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยในโอกาสเดินทางไปร่วมให้ข้อมูลและติดตามพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจราชการโครงการทุเรียนคุณภาพและการบริหารจัดการทุเรียนคุณภาพของเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ณ บริเวณตลาดกลางยางพารา ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ว่า กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไม้ผล โดยส่งเสริมให้เกษตรกรดำเนินการผลิตตามมาตรฐานและยกระดับสู่การรับรอง (GAP) การพัฒนาคุณภาพผลผลิตสู่การส่งออก การรวมกลุ่มทำตลาดล่วงหน้า การยกระดับสินค้าเกษตรที่เป็นอัตลักษณ์และเหมาะสมกับพื้นที่เพื่อเพิ่มมูลค่า นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดในการจัดตั้งสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ วางแผนพัฒนาการผลิตและการตลาดร่วมกัน สร้างความเข้มแข็งองค์กรเกษตรกรเพื่อการพัฒนาและบริหารจัดการทุเรียนระดับประเทศ โดยเชื่อมโยงกลุ่มชาวสวนทุเรียนทั้ง 6 ภูมิภาค มาร่วมกันวางแผนกำหนดแนวทางพัฒนาและบริหารจัดการทุเรียนทั้งระบบ ซึ่งในเบื้องต้นได้คัดเลือกจากเกษตรกรแปลงใหญ่ระดับอำเภอใน 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด นนทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครนายก ชลบุรี ศรีสะเกษ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฎร์ธานี ยะลา ปัตตานี ระนอง กระบี่ สงขลา นราธิวาส สตูล และตาก
สำหรับการบริหารจัดการผลไม้ของจังหวัดยะลา ซึ่งมีผลผลิตรวมทั้งสิ้น 59,073 ตัน แบ่งเป็น ทุเรียน 41,507 ตัน มังคุด 4,037 ตัน เงาะ 1,371 ตัน และลองกอง 12,158 ตัน ได้ดำเนินการในทิศทางเดียวกับภาพรวมของการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ โครงการทุเรียนคุณภาพและการบริหารจัดการทุเรียนคุณภาพของเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจังหวัดยะลาได้รวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่มากที่สุดในประเทศ จำนวน 16 แปลง เกษตรกรสมาชิก 951 ราย พื้นที่รวม 6,495.50 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 900 กก./ไร่ เป็นผลผลิตจากแปลงใหญ่รวม 5,845.95 ตัน สร้างรายได้ 320 ล้านบาทต่อปี
จากการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ทุเรียนที่ผ่านมาส่งผลให้มีผลการดำเนินงาน 5 ด้าน ดังนี้ 1) การลดต้นทุนการผลิต ลดลง 10.1% จาก 8,616 บาท/ไร่ คงเหลือ 7,750 บาท/ไร่ โดยการใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน 2) การเพิ่มผลผลิต เพิ่มขึ้น 8.4% จาก 830 กก./ไร่ เป็น 900 กก./ไร่ โดยการจัดการสวนที่ดีและใช้ปุ๋ยถูกต้อง เหมาะสม มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการผลิต 3) การพัฒนาคุณภาพ ได้มีการกำหนดมาตรฐานการผลิตและเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ รับรองสินค้าที่สามารถทำได้ หรือเป็นที่ต้องการของตลาด 4) การบริหารจัดการผ่านกระบวนการกลุ่มที่เข้มแข็ง เช่น กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และง่ายต่อการเข้าถึงการส่งเสริม สนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งด้านองค์ความรู้ แหล่งทุน ให้เกิดการพัฒนาที่เข้มแข็งต่อไปในอนาคต 5) ด้านการตลาด โดยการเชื่อมโยงการตลาด/การสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเกษตรกรสามารถรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกส่งตลาดออนไลน์ Facebook และมีการแปรรูป เช่น ทุเรียนทอด ทุเรียนเชื่อม ทุเรียนกวน เพื่อเพิ่มมูลค่าการตลาด สามารถส่ง จำหน่ายทั่วประเทศโดยทางไปรษณีย์ โดยกลุ่มสามารถกำหนดเป้าหมายและแผนปฏิบัติการ รวมทั้งการจัดทำแผนธุรกิจของกลุ่มที่ชัดเจน
ด้านนายจำนงค์ เพชรอนันต์ เกษตรจังหวัดยะลา กล่าวว่า ทุเรียน นับว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ที่มีเสน่ห์ รูปลักษณ์ภายนอกที่โดดเด่น กลิ่นและรสชาติที่เป็นที่ชื่นชอบของใครหลาย ๆ คน สำหรับจุดเด่นของทุเรียนยะลา คือ สภาพภูมิอากาศ และพื้นที่ปลูกที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดเทมีผืนป่า “ฮาลาบาลา” โอบล้อม ทำให้ไม่มีปัญหาน้ำแช่ขัง ทุเรียนจึงมีคุณภาพดี เนื้อแห้ง เนียนนุ่ม รสชาติหอมหวานมันส์ จนได้รับฉายาว่า “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” ซึ่งถือเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ รสชาติดี เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ด้วยพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 67,000 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยวประมาณ 48,000 ไร่ และมีแนวโน้มการปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น ให้ผลผลิตรวมกว่า 41,000 ตันต่อปี สร้างรายได้ 1,600 ล้านบาทต่อปี จังหวัดยะลาจึงนับเป็นแหล่งปลูกทุเรียนแหล่งใหญ่ที่สุดในภาคใต้ตอนล่าง
นอกจากนี้ ยะลายังได้กำหนดให้ทุเรียนเป็น 1 ในวาระของจังหวัด ยะลาเมืองทุเรียน (Yala Durian City) ตั้งเป้าหมายให้จังหวัดยะลาเป็นเมืองทุเรียนแห่งภาคใต้ตอนล่าง เน้นการผลิตทุเรียนคุณภาพ ตามระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นหลัก ด้วยการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูป และที่สำคัญคือให้เป็นศูนย์กลางตลาดค้าส่ง และธุรกิจแปรรูปทุเรียนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่ต้องการยกระดับศักยภาพการแข่งขัน และการหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางสู่รายได้สูง ส่งเสริมผู้ประกอบการที่เข้มแข็งและพาณิชย์ดิจิตอล พัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการให้มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจเพิ่มสัดส่วนความเป็นเจ้าของของคนไทยและสนับสนุนให้มีการขยายตลาดที่มีแบรนด์สินค้าและช่องทางการตลาดที่เป็นของตนเองมากขึ้น ตลอดจนพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรม และมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนวาระจังหวัดยะลา ยะลาเมืองทุเรียน (Yala Durian City) มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่มีอยู่ทุกอำเภอ ซึ่งมีฐานการเรียนรู้ตามประเด็นต่าง ๆ เช่น การลดต้นทุนการผลิต การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูทุเรียน การพัฒนาคุณภาพผลผลิต การจัดการน้ำในสวนทุเรียน การตลาดนำการผลิตและการเพิ่มมูลค่าจากผลผลิตทุเรียน
สำหรับราคาฤดูกาลทุเรียนปีนี้ จังหวัดยะลาได้เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตและส่งออกสู่ท้องตลาดผ่านพ่อค้าคนกลางหรือ ล้ง รับซื้อทุเรียนไปแล้วกว่า 15% ซึ่งราคารับซื้อขณะนี้ ทุเรียนเกรด AB อยู่ที่ราคา 86 บาทต่อกิโลกรัม เกรด C ราคา 67 บาทต่อกิโลกรัม และตกไซต์ประมาณ 40 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวสวนทุเรียนมีความพึงพอใจกับราคาเป็นอย่างมาก มีรายได้เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากทุเรียนมีคุณภาพจากการเข้าไปส่งเสริมพัฒนาให้ชาวสวนได้รับใบรับรอง GAP และโดยเฉพาะการคัดเลือกเกษตรกรแปลงใหญ่เข้าร่วมกับโครงการทุเรียนคุณภาพของสถาบันปิดทองหลังพระฯ เพื่อเชื่อมโยงด้านการตลาด ช่องทางการจำหน่าย รวมถึงความร่วมมือต่าง ๆ ซึ่งได้เข้ามาส่งเสริมตั้งแต่เริ่มฤดูการผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตทุเรียนคุณภาพ รวมทั้งนำเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไปศึกษาดูงาน และนำกลับมาใช้ปรับปรุงสวนของตนเองต่อไป
********************************
อัจฉรา : ข่าว, สิงหาคม 2562
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร
กลุ่มส่งเสริมไม้ผล สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร : ข้อมูล