วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า กว่าสองสัปดาห์แล้วที่มติคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกการอยู่เวรของครูในโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ มีผลบังคับใช้ทันที ด้วยความห่วงใยในสวัสดิภาพและลดภาระของครูอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนี้ได้รับผลตอบรับดีมากจากครูทั้งประเทศ รวมทั้งผู้อำนวยการสถานศึกษาที่เข้าใจเจตนาของการยกเลิกเวรครู หลายแห่งได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแทนการให้ครูนอนเฝ้า เช่น ระบบกล้องวงจรปิดควบคุมจากระยะไกล แอปพลิเคชันที่ตรวจตราและประสานหน่วยงานด้านความปลอดภัยได้ตลอดเวลา รวมทั้งการร่วมมือจากภาคเอกชนในพื้นที่เข้ามาสนับสนุนตู้แดง เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงความห่วงใย ความเข้าใจต่อความปลอดภัยของชีวิตครูและทรัพย์สินราชการจากทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็ง
อย่างไรก็ตามในการปฏิบัติตามมติ ครม. พบว่าสถานศึกษาบางแห่งยังให้ครูทำหน้าที่อยู่เวรตามเดิมอยู่ โดยปรับเปลี่ยนการออกคำสั่งจากคำว่าอยู่เวร เป็นคำว่าให้ครูปฏิบัติหน้าที่ดูแลโรงเรียนแทนนั้น ทำให้ครูไม่ได้รับการให้เลิกอยู่เวรตามมติ ครม. ที่ให้มีผลทันที ซึ่งวิธีการเช่นนี้สุ่มเสี่ยงเป็นการออกคำสั่งที่ขัดกับมติ ครม. จึงอยากขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาที่ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวนี้ ปรับเปลี่ยนวิธีในการดูแลความปลอดภัยให้ถูกต้องและเหมาะสมโดยไม่ต้องให้ครูมานอนเฝ้าโรงเรียน
“รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล เร่งผลักดันเรื่องยกเลิกการอยู่เวรของครู เนื่องจากห่วงใยความปลอดภัยของครูเป็นหลัก หลายครั้งที่ครูถูกทำร้ายขณะอยู่เวรโดยไม่มีทางสู้ ซึ่งการบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจของครูทุกคน ไม่คุ้มค่าเลยในการเข้าแลกเพื่อปกป้องทรัพย์สิน โลกวันนี้มีเทคโนโลยีมากมายที่สามารถนำมาใช้ทดแทนได้ รวมถึงบริษัทรักษาความปลอดภัย อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการเองก็มีนโยบายเปลี่ยนองค์กรให้ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น จึงอยากวอนผู้บริหารสถานศึกษาที่ยังให้ครูเข้าเวรอยู่ ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติให้เป็นไปตามมติ ครม. ที่มีความตั้งใจจะยกเลิกการให้ครูเข้าเวร เพื่อดูแลครูและให้ครูมีความสุขได้อย่างแท้จริง”
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เร่งรวบรวมข้อมูลความต้องการจ้าง รปภ.มาดูแลความปลอดภัยของสถานศึกษาให้ครบถ้วน เพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ทันในสัปดาห์หน้า โดยหวังว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะมีมติเห็นชอบในเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ส่งผลกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคุณครูทั้งประเทศโดยตรง
“อยากขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาใช้แนวคิดบนหลักที่ว่า สวัสดิภาพและความปลอดภัยของครูมีความสำคัญกว่าทรัพย์สินทั้งหมด โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการให้ครูไปเฝ้าเวรยามนี้ ขอให้ท่านคิดว่าคุณครูทุกคนคือเพื่อนร่วมงานมากกว่าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา วันนี้เราปลดล็อคเรื่องครูอยู่เวรได้แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือดูแลกันและกัน คืนครูให้ห้องเรียน พัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยให้เหมาะสมกับพื้นที่ มีความทันสมัย ร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ ในพื้นที่ตามแนวคิดการทำงานจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” รมว.ศธ. กล่าวทิ้งท้าย