ทส. มอบรางวัล ผลงานเครือข่ายเยาวชน Green Youth หวังสร้างมาตรฐาน สู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวทั่วประเทศ

วันที่ 7 ส.ค.2562 นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานมอบรางวัลผลการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth) ระดับประเทศ ประจำปี 2561 ณ โรงแรมทีเค พาเลซ กทม. ที่จัดขึ้นโดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) เพื่อมอบให้กับมหาวิทยาลัยภาครัฐ จำนวน 42 แห่ง ที่ผ่านการประเมินโครงการ Green Youth เพื่อเตรียมความพร้อมมุ่งสู่ การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University)

นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การพัฒนาเครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัย ด้วยการส่งเสริมให้พวกเขาได้เรียนรู้ ซึมซับ และปรับเปลี่ยน พฤติกรรม จากการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตัวเอง จะทำให้พวกเขาเกิดความตระหนัก หลงรักและหวงแหนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว พร้อมที่จะเป็นแนวร่วมในการบอกต่อและมีส่วนช่วยในการรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปได้ ตามฐานแนวคิดที่ว่า มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองต่างๆ ในประเทศ หากมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบมีกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและมีการจัดการที่ดี ย่อมสามารถสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพและขับเคลื่อนเมืองนั้นๆ สู่การเป็นเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน (Green City) ได้

ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สนับสนุนและสร้างการมีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมา มีพัฒนาการที่ก้าวหน้าไปอีกขั้น ด้วยการลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ สนับสนุนให้มีการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth) ในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเกิดความตระหนักต่อการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสีย การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการจัดการพลังงาน เพื่อพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) อีกทั้ง ในปีนี้ ยังมีการประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรก จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการผลักดันการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนในระดับอุดมศึกษาให้มีความเข็มแข็งมากยิ่งขึ้น

ด้าน นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมสนับสนุนการจัดกิจกรรมของเครือข่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อม ผ่านชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จำนวนกว่า 66 แห่ง มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2559 ด้วยเห็นถึงความสำคัญของเยาวชนที่จะเป็นพลังสำคัญในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศในอนาคต

โดยปีนี้ มีการประเมินโครงการ Green Youth ใน 4 ด้าน ได้แก่ การบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสีย การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการจัดการพลังงาน ซึ่งโครงการที่ผ่านการประเมิน จะต้องเป็นโครงการที่มีผลงานชัดเจน เป็นรูปธรรม ได้ผลลัพธ์ที่ดีมีประสิทธิภาพ สามารถนำมาขยายผล หรือเผยแพร่สู่สาธารณชนได้

ผลจากการประเมิน มีมหาวิทยาลัยได้รับรางวัล ประจำปี 2561 จำนวนทั้งสิ้น 42 แห่ง แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับทอง (ดีเยี่ยม) จำนวน 6 แห่ง (ได้รับคะแนน ตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป) ระดับเงิน (ดีมาก) จำนวน 12 แห่ง (ได้รับคะแนน ร้อยละ 75 – 84) และ ระดับทองแดง (ดี) จำนวน 24 แห่ง (ได้รับคะแนน ร้อยละ 60 – 74 )

ตัวอย่าง ผลงานด้านการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการ Say No Thank you ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปฏิเสธการรับถุงพลาสติกหูหิ้ว โดยสามารถลดถุงพลาสติกหูหิ้วได้ จำนวน 1,586 ถุงในระยะเวลา 2 เดือน ผลงานด้านการจัดการของเสีย อาทิ โครงการจัดการขยะ ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร โดยการนำขยะอินทรีย์มาทำปุ๋ยหมัก เลี้ยงมูลไส้เดือน ทำน้ำจุลินทรีย์ สร้างเตาเผาเพื่อทำน้ำส้มควันไม้ และจัด Home Stay พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งสามารถขยายผลเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้คนในชุมชนและหน่วยงานภายนอกเข้ามาศึกษาดูงานได้ ผลงานด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียว อาทิ โครงการชวนน้องปั่นไปปลูก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี รณรงค์การใช้จักรยานควบคู่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในมหาวิทยาลัย ทำให้มีจำนวนต้นไม้เพิ่ม 1,000 ต้น ในพื้นที่ 4.26 ไร่ และ ผลงานด้านการจัดการพลังงาน อาทิ โครงการม่วงเขียวสดใส ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ โดยการสำรวจและแก้ไขก๊อกน้ำที่ชำรุด เพื่อประหยัดน้ำภายในมหาวิทยาลัย เป็นต้น