นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาล ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงต่อประชาชนถึงนโยบายฟื้นชีวิตอุตสาหกรรมประมงให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประชาชนด้วยการแก้ไขข้อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสมอันเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลให้อยู่กับประเทศอย่างยั่งยืน พี่น้องเกษตรกรชาวประมง จะต้องมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเลเพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากฝ่ายคณะรัฐมนตรี ผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐ และผู้แทนชาวประมง (สมาคมชาวประมง) ร่วมกันพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติแก้ไข พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. โดยนำร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างฯ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วมาใช้พิจารณายกร่าง
รวมทั้งใช้ความเห็นของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมงและกิจการประมงทั้งระบบ และได้นำข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของชาวประมงมาใช้ในการพิจารณาประกอบการยกร่างฯ ดังกล่าว
ซึ่งเมื่อผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเลเพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง กรมประมงได้นำไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครบถ้วนตามกระบวนการเสนอร่างกฎหมาย และเสนอร่างฯ ดังกล่าวนี้ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ซึ่ง ครม. ได้มีมติเห็นชอบการเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ….. ซึ่งประกอบไปด้วย 34 หลักการ 39 มาตรา ซึ่งเป็นมาตราที่เกี่ยวกับ บทนิยาม องค์กร การบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมง การติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมงในน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทย มาตรการอนุรักษ์ บทกำหนดโทษ และการกำหนดค่าธรรมเนียมการนำเข้าส่งออกหรือนำผ่านสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เป็นต้น
ทั้งนี้ การปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 จัดทำขึ้นเพื่อไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นที่มีการบัญญัติใช้บังคับอยู่แล้ว เช่น กฎหมายการควบคุมโรงงานหรือแรงงาน การปรับปรุงอัตราโทษให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามบริบททางเศรษฐกิจและสังคม และดำรงไว้ซึ่งการประกอบอาชีพประมงโดยสุจริตของชาวประมง โดยยังคงหลักการควบคุม การบริหารจัดการการทำการประมง การรายงานการทำการประมง โดยไม่ขัดต่อหลักการต่อต้านการประมง IUU อนุสัญญาและพันธกรณีระหว่างประเทศ มีเจตนารมย์เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการประมง และเพื่อเป็นการจัดระเบียบการประมงในประเทศไทย ตลอดจนรองรับการจัดระเบียบการประมงทะเลในน่านน้ำอื่น ภายใต้กติการะหว่างประเทศและป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำและสามารถทำการประมงอย่างยั่งยืน รวมทั้ง สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา ฟื้นฟู และคุ้มครองสภาพสิ่งแวดล้อมให้ดำรงอยู่ในสภาพที่เหมาะสม
ซึ่งต่อจากนี้ ร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการพิจารณาตามกลไกในรัฐสภา ดังนั้น การที่ ครม.อนุมัติร่างฯ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเสนอร่างกฎหมายเพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในสภาต่อไป ซึ่งกรมประมงจะทำหน้าที่ให้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนต่อการขับเคลื่อนการพิจารณาร่างฯ ดังกล่าว เพื่อให้สามารถประกาศออกมาเป็น พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ….. ซึ่งเป็นการสนองนโยบายรัฐบาล และ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการแก้ไขข้อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสมอันเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและดำรงอาชีพประมงให้อยู่กับคนไทยและประเทศไทยอย่างยั่งยืน กรมประมง จึงเชื่อมั่นว่า หาก พ.ร.บ. ดังกล่าวนี้ มีผลใช้บังคับ พี่น้องชาวประมงและผู้ประกอบการประมงจะได้รับประโยชน์อย่างแน่นอน…อธิบดีกรมประมง กล่าว