นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ ได้มีการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขประเด็นมะเร็งครบวงจร เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสำคัญทางการแพทย์ โดยผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้น ต้องทุกข์ทรมานจากการดำเนินของโรค การรักษา และอาการข้างเคียงจากการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด รังสีรักษา และการให้เคมีบำบัด ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตด้วย เมื่อโรคมะเร็งมีอาการลุกลามเพิ่มขึ้นและเข้าสู่ระยะท้าย ผู้ป่วยจะเกิดความทุกข์ทรมาน ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็ง จึงต้องมีการวางแผนล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายได้รับการดูแลแบบประคับประคองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี
นายแพทย์เมธี วงศ์เสนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งพบุรี กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยประคับประคองเป็นงานที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี ในการรักษาโรคมะเร็งระดับตติยภูมิ ได้ดำเนินตามนโยบายในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี การดูแลรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคองมีลักษณะเฉพาะ ผู้ให้การดูแล ต้องใช้ศาสตร์ในการดูแลแบบองค์รวม ทั้งการประเมิน การวางแผนการดูแลที่รอบด้านทั้งอาการทางกาย อาการด้านจิตใจ ภาวะทางสังคม การตอบสนองความต้องการด้านจิตวิญญาณ การจัดการอาการรบกวน รวมทั้งการวางแผนล่วงหน้า (Advance care planning) ช่วยให้จากไปอย่างสงบ สมศักดิ์ศรีตามความปรารถนาสุดท้ายของผู้ป่วย
แพทย์หญิงภาวิตา ประภากร ประธานคณะกรรมการการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี กล่าวต่อว่า การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองของโรงพยาบาลเครือข่าย ในจังหวัดลพบุรี จำนวน ๑๒ แห่ง จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยระยะประคับประคอง ปีงบประมาณ ๒๕๖๕ รวม ๖๕๖ ราย ที่ได้มีการจัดการดูแลผู้ป่วยประคับประคองเชื่อมโยงถึงชุมชน ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทางโรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี จึงได้ขับเคลื่อนนโยบายการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง
เริ่มตั้งแต่การคัดกรองเข้าสู่การดูแล ในผู้ป่วยมะเร็งที่มีการลุกลาม ไปสมอง กระดูก มะเร็งตับที่จบการรักษา และผู้ป่วยที่มีความปวดรุนแรง ต่อด้วยการประเมินอาการรบกวนที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย และช่วยดูแลให้ความทุกข์ทรมาน เหล่านั้นหายไป หรือลดลง ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายหรือจิตใจ ด้านสังคม และจิตวิญญาณ การทำงานโดยสหสาขาวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการ แพทย์แผนไทย และนักสังคมสงเคราะห์ รวมทั้งหอผู้ป่วยพุทธรักษา ที่เตรียมสำหรับดูแลผู้ป่วยประคับประคอง โดยจัดสิ่งแวดล้อมเน้นความอบอุ่น ปลอดภัย เป็นส่วนตัว มีกิจกรรมการให้ความรู้ ฝึกทักษะเตรียมผู้ดูแล และผู้ป่วยให้พร้อมกลับไปใช้ชีวิตที่บ้าน ตั้งแต่การส่งต่อข้อมูลให้ทีมสุขภาพใกล้บ้าน หรือการติดตามเยี่ยมเอง รวมทั้งการ Telemedicine /Telehealth ช่วยลดการเดินทาง อีกทั้งยังมีช่องทางให้ติดต่อสะดวกรวดเร็ว ให้ครอบครัวได้มั่นใจว่าจะได้รับการดูแลอย่างไร้รอยต่อ ตั้งแต่ในโรงพยาบาลจนไปถึงบ้าน และชุมชน