เขตสุขภาพที่ 9 จัดตั้ง “โรงเรียนเบาหวานวิทยานครชัยบุรินทร์” เป็นแหล่งเรียนรู้การเอาตัวรอดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ

ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 เผยความสำเร็จการต่อสู้เบาหวานผ่านกระบวนการเรียนรู้ 5 ฐาน ได้แก่ เรียนรู้สุขภาพตนเอง วางแผนการกิน พฤติกรรมสุขภาพ ออกกำลังกาย และให้สัญญาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยผู้ป่วยเบาหวานในจังหวัดนครราชสีมาเข้าสู่ระยะโรคสงบ ไม่ต้องใช้ยา ได้ถึง 109 ราย เดินหน้าจัดตั้ง “โรงเรียนเบาหวานวิทยานครชัยบุรินทร์” เป็นแหล่งเรียนรู้ของบุคลากรและภาคีเครือข่าย เพื่อขยายผลการลดป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ

นพ.ภูวเดช สุระโคตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และครูจิตอาสา โรงเรียนเบาหวานวิทยานครชัยบุรินทร์ จ.นครราชสีมา ว่า โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย พบประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ประมาณ 1 ใน 4 ป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง หรือทั้ง 2 โรค ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วย พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร รวมทั้งกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และประเทศ โดยจังหวัดนครราชสีมา มีอัตราป่วยเบาหวานรายใหม่ 609.57 ต่อประชากรแสนคน สูงกว่าภาพรวมของเขตที่ 587.85 ต่อประชากรแสนคน และภาพรวมประเทศ 522.52 ต่อประชากรแสนคน จึงได้จัดทำโรงเรียนเบาหวานวิทยา ที่มุ่งเน้นการให้ความรู้ในการลดป่วย ลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ

นพ.ภูวเดช กล่าวต่อว่า การดำเนินงานของโรงเรียนเบาหวานวิทยา จะใช้หลักแนวคิดเบาหวานในกระบวนทัศน์ใหม่ ประกอบด้วยกระบวนการเรียนรู้ 5 ฐาน ได้แก่ 1) การเรียนรู้ตนเอง/รับรู้ตนเอง การตรวจสุขภาพตนเองและการแปลผล BODY Composition ซึ่งจะทำให้ได้รู้สุขภาพที่แท้จริงของตนเอง 2) การรับประทานอาหารในชีวิตประจำวัน โดยใช้หลักการคำนวณคาร์โบไฮเดรทที่เป็นสารอาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาลซึ่งให้พลังงาน และวางแผนการกินต่อวัน 3) การออกแบบการปรับเปลี่ยนสุขภาพตนเอง โดยใช้หลักของอาหารพร่องแป้ง (Low Carb Diet) หรือการอดอาหารเป็นช่วงๆ (IF) 4) การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่เหมาะสม และ 5) การเลือกเป้าหมายที่ชอบและเหมาะสมกับตัวเอง โดยให้สัญญาใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งการดำเนินงานของจังหวัดนครราชสีมาที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยมีการเปิดโรงเรียนเบาหวานวิทยา ครบทั้ง 32 อำเภอ มีประชาชนเข้าร่วม 1,963 คน สามารถทำให้ผู้ป่วยหายหรือเข้าสู่ระยะสงบของโรคเบาหวานได้ 109 คน

“จากความสำเร็จของโรงเรียนเบาหวานวิทยาจังหวัดนครราชสีมา จึงได้มีการขยายผลเป็น โรงเรียนเบาหวานวิทยานครชัยบุรินทร์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ลดการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้กับประชาชน และเป็นสถานที่สำหรับฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ บุคลากรในโรงพยาบาลและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่เป็นครูสอนผู้ป่วยเบาหวาน (ครู ก) รวมถึงเป็นที่ศึกษาดูงานให้กับองค์กรต่างๆ ที่สนใจด้วย” นายแพทย์ภูวเดช กล่าว