กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นหน่วยงานแรกและหน่วยงานแกนหลัก ร่วมกับพันธมิตรดำเนินงานขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใต้ โครงการตาลเดี่ยวโมเดลจัดการขยะสู่พลังงานและสร้างรายได้เพื่อความยั่งยืนของชุมชน ณ ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
โดยโครงการนี้ได้รับ รางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 ด้านการบริการภาครัฐ ประเภทรางวัลนวัตกรรมบริการ ระดับดีเด่น จาก คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ด้วยศักยภาพของการดำเนินโครงการและ Impact ที่มีต่อการบริหารจัดการขยะชุมชนครบวงจรในพื้นที่นำร่องจังหวัดสระบุรี ดังนี้
วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม (ศนพ.) ภายใต้กลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน นำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไปจัดการขยะชุมชน ถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยใช้ วทน. ในการจัดการขยะชุมชน 2 รูปแบบ ได้แก่ การถ่ายทอดนวัตกรรมเครื่องคัดแยกขยะชุมชน ที่มีปริมาณไม่เกิน 20 ตันต่อวัน เพื่อเพิ่มสัดส่วนให้มีอัตราการรีไซเคิลให้เพิ่มขึ้นและสามารถนำมาเพิ่มมูลค่าได้ และการถ่ายทอดงานวิจัยรวมถึงองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยที่แล้วเสร็จมาถ่ายทอดสู่ชุมชน จัดทำเป็นรูปแบบหมู่บ้านต้นแบบสีเขียว โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากงานวิจัยที่แล้วเสร็จลงสู่ชุมชนด้านการจัดการขยะที่ต้นทาง เพื่อเพิ่มมูลค่าและการนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และงานวิจัยเพื่อถ่ายทอดจากหิ้งสู่ห้าง รวมถึงการจัดการขยะที่ปลายทางด้วยนวัตกรรม โดยมีผลงานเด่นที่ขับเคลื่อนหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ประกอบด้วย
1. ถ่านหอม เป็นนวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าขยะเปลือกผลไม้จากตลาดสด โดยการใช้องค์ความรู้พื้นฐานในการกำจัดกลิ่นน้ำส้มควันไม้ที่เกิดจากการเผาถ่านเปลือกผลไม้ และมีการพัฒนาการใช้องค์ความรู้ด้านการผลิตถ่านกรองก๊าซจากกะลาปาล์มโดยเทคนิคการกระตุ้น ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีเอิบชุ่ม เพื่อเกิดองค์ความรู้ในการพัฒนาคุณสมบัติถ่านที่ปกติมีเพียงแต่คุณสมบัติในการดูดซับ ให้สามารถปล่อยกลิ่นหอมและดูดกลิ่นอับชื้น หรือกลิ่นเหม็นในห้องน้ำ/ตู้เสื้อผ้า/รถยนต์ โดยผลงานนี้ได้ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวก ทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจดังนี้
เชิงสังคม เกิดความตระหนักในการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการเพิ่มมูลค่าขยะ เพื่อเป็นกลไกให้เกิดการคัดแยกขยะที่ต้นทางได้อย่างถูกต้อง ลดปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดการกระตุ้นให้ชุมชนได้มีการนำแนวคิดและความรู้ที่ได้ไปประยุกต์และปรับใช้ให้เหมาะสมกับชุมชนให้เกิดความยั่นยืนและเป็นชุมชนปลอดขยะในอนาคต ลดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะ และเกิดกิจกรรมบูรณาการจากทุกภาคส่วนในการดำเนินงาน
เชิงเศรษฐกิจ เกิดรายได้ของชุมชน จากการเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งประเภทเปลือกผลไม้จากการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าเปลือกผลไม้ หรือผลผลิตทางการเกษตรที่มีราคาตกต่ำหรือของเหลือทิ้งภาคการเกษตร ก่อให้เกิดเป็นรายได้เพิ่มขึ้นประมาณการ 800-1,200 บาทต่อกิโลกรัม (29-50 บาทต่อชิ้น) เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพในชุมชน เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน และสามารถส่งขายเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออก
2. โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตสารเร่งตกตะกอนโคแอกกูแลนด์จากเถ้าชีวมวลหรือเถ้าถ่านหิน โดยมีองค์ความรู้พื้นฐาน คือ การพัฒนาสารประกอบอลูมิโนซิลิเกต (ซีโอไลต์) จากของเสีย เพื่อผลิตเป็นสารเร่งตกตะกอนชนิดคอมโพสิท สามารถกำจัดค่าความสกปรกได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 กำจัดสีได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 กำจัดแอมโมเนียและฟอสเฟต ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 อีกทั้งยังไม่เพิ่มค่าของแข็งละลายน้ำ (Total Dissolved Solid: TDS) และลดกลิ่นได้ โดยสามารถทำงานได้ทั้งน้ำที่ผ่านระบบบำบัดแบบไร้อากาศที่มีสี น้ำเสียชุมชน น้ำชะขยะ และ น้ำเสียอุตสาหกรรม โดยสามารถบำบัดน้ำส่วนปลาย และน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดสามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยมีข้อดีคือ ประหยัดค่าใช้จ่ายการใช้สารเคมีและเร่งระยะเวลาในการตกตะกอน สารเร่งตกตะกอนดังกล่าวสามารถนำกลับมารีเจนเนอเรตเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำได้ประมาณ 3 รอบ และต้นทุนต่ำ โดยผลงานนี้ได้ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ดังนี้
เชิงสังคม ลดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดการกระตุ้นให้ชุมชนได้มีการนำแนวคิดและความรู้ที่ได้ไปประยุกต์และปรับใช้ให้เหมาะสมกับชุมชนให้เกิดความยั่งยืน ลดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะ เช่น น้ำเสียจากบ่อขยะ และน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม
เชิงเศรษฐกิจ ส่งเสริมการใช้องค์ความรู้ด้านการวิจัยต่อการขยายฐานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ลดการนำเข้าสารเร่งตกตะกอนจากต่างประเทศ (โพลิเมอร์ที่ใช้เร่งตกตะกอน ราคา 40-70 บาทต่อกิโลกรัม) โดย วว.สามารถสร้างผลิตภัณฑ์สารเร่งตกตะกอนจากของเหลือทิ้งทางภาคการเกษตร หรือ ของเหลือทิ้งภาคอุตสาหกรรม เกิดเป็นผลิตภัณฑ์สารเร่งตกตะกอนที่มีต้นทุน 20 บาทต่อกิโลกรัม เกิดการจ้างงาน และเพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์สารเร่งตกตะกอนดังกล่าว
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. ดำเนินโครงการตาลเดี่ยวโมเดล ในรูปแบบโครงการนำร่องเพื่อแก้ไขและลดปัญหาขยะชุมชนรวมถึงขยะพลาสติกที่เหลือทิ้ง มุ่งเน้นให้เป็นโครงการต้นแบบเพื่อนำผลงานวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการขยะชุมชน โดยนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่และเพิ่มมูลค่าขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถสร้างรายได้และความยั่งยืนกลับคืนสู่ชุมชน มุ่งเน้นการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) และการเปลี่ยนขยะเพื่อสร้างรายได้ (Waste to Wealth) เกิดการขับเคลื่อนตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
โครงการตาลเดี่ยว มีรูปแบบการดำเนินงาน คือ บริหารจัดการขยะโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละขั้นตอนการผลิตและแปรรูป เป็นเทคโนโลยีที่ชุมชนเข้าถึงและสามารถดำเนินการได้เอง เป็นการทำงานแบบชุมชนมีส่วนร่วม โดยมีเทคโนโลยีหลัก 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.ชุดคัดแยกขยะระบบกึ่งอัตโนมัติแบบเบ็ดเสร็จ พร้อมระบบกำจัดกลิ่นขยะ และระบบทำความสะอาดถุงพลาสติก (Soft bag) 2.ชุดคัดแยกชนิดและสีพลาสติกด้วยระบบ NIR และ Vision พร้อมระบบผลิตเกล็ดพลาสติกคุณภาพสูง และ 3.นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและการนำผลพลอยได้มาใช้ประโยชน์ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ร่วมกับการผลิตสารปรับปรุงดิน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน
ปัจจุบันโครงการตาลเดี่ยวโมเดลเป็นต้นแบบในการจัดการขยะชุมชนที่เป็นรูปธรรม ซึ่งได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐ/เอกชนเยี่ยมชมและศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางนำเทคโนโลยีการจัดการขยะที่เหมาะสมของ วว. ไปปรับใช้ในการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ต่อไป
นอกจากกิจกรรมการเยี่ยมชมดังกล่าวแล้ว วว. ยังขยายผลต่อการรับบริการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและรับงานบริการที่ปรึกษา ให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้วยการปฏิบัติจริงจากงานวิจัยภายใต้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งทำให้ผู้เข้ารับการอบรมเข้าใจได้ง่ายและสามารนำไปปฏิบัติได้จริง โดยมุ่งอบรมให้กลุ่มเป้าหมายหลายระดับ และมีการตรวจติดตามผลจากการอบรมภายหลัง อีกทั้งมีการนำ วทน. ลงใช้จริงในพื้นที่ต้นแบบ และมีการตรวจติดตามผลภายหลังการอบรม นอกจากนี้ วว. เน้นการบูรณาการจากพันธมิตรหลายหน่วยงาน มีการเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนในพื้นที่ สามารถเข้าร่วมสนับสนุน ในรูปแบบ CSR สู่ชุมชนได้ ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์สูงสุดร่วมกันคือ พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและร่วมกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
จากความสำเร็จในการดำเนินโครงการตาลเดี่ยวโมเดล ณ จังหวัดสระบุรี ได้นำไปสู่การขยายขอบข่ายพื้นที่บริหารจัดการขยะชุมชนและรูปแบบดำเนินการสู่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม ผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ดังนี้
วว. ร่วมกับ กลุ่มวงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป ในการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการจัดการขยะชุมชน และเน้นการฝึกอบรมเพื่อสร้างการคัดแยกที่ต้นทาง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างโอกาสในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สร้างงาน สร้างอาชีพ ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
วว. ร่วมกับ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สถาบันพลาสติก เทศบาลตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง และจังหวัดระยอง เปิด “ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร” (Material Recovery Facility : MRF) ซึ่งเป็นต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย จากการขยายผลความสำเร็จ “ตาลเดี่ยวโมเดล” สู่ภาคเอกชน สำหรับการคัดแยกและยกระดับคุณภาพวัสดุรีไซเคิลเหลือใช้ในชุมชนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีฝีมือคนไทย พร้อมดำเนินการในรูปแบบ “ธุรกิจชุมชน” หรือ Community Enterprise ตั้งเป้าแก้ปัญหาพลาสติกใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลในหลุมฝังกลบ เพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกว่า 1,000 ตันต่อปี พร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
วว. ร่วมกับ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) สถาบันพลาสติก กรุงเทพมหานคร กลุ่มบริษัทสมาชิก Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ในประเทศไทย และ Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management (PPP Plastics) ประกาศความร่วมมือขับเคลื่อนการจัดการพลาสติกและวัสดุเหลือใช้อย่างยั่งยืน เดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) จัดตั้ง ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร “Smart Recycling Hub” นำร่องโมเดลต้นแบบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมขยายผลไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อพัฒนากลไก การรวบรวม การคัดแยก และแปรรูป เป็นวัสดุรีไซเคิลสะอาดคุณภาพสูง ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สอดคล้องกับนโยบาย BCG Economy เพื่อสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าเก็บพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบให้ได้ 50,000 ตันต่อปี
จากความสำเร็จในการดำเนินงานการบริหารจัดการขยะชุมชนครบวงจรของ วว. และพันธมิตรดังกล่าวจะเป็นโมเดลความสำเร็จในการขยายผลและขอบข่ายไปสู่การดำเนินงานในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยต่อไปอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมการบริหารจัดการขยะชุมชนโดย วว. ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 เว็บไซต์ www.tistr.or.th อีเมล tistr@tistr.or.th หรือที่ “วว. JUMP” https://tistrservices.tistr.or.th/