รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับมอบสารสกัดน้ำมันกัญชา จีพีโอ เมดิคัลเกรด ล็อตแรก ชนิด THC สูงขนาด 5 ml จำนวน 4,500 ขวดจากทั้งหมด 6,500 ขวด จากองค์การเภสัชกรรมเพื่อให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาล 12 แห่งทุกเขตสุขภาพ และผู้ป่วยในโครงการศึกษาวิจัยและการรักษากรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย
วันที่ 7 สิงหาคม 2562 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสุขภาพจิต เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ร่วมกันแถลงข่าว “การส่งมอบสารสกัดน้ำมันกัญชามาตรฐานทางการแพทย์ ล็อตแรก สู่ระบบบริการกัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาลและโครงการวิจัย”
นายอนุทินกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบสารสกัดน้ำมันกัญชามาตรฐานทางการแพทย์ ล็อตแรก จากองค์การเภสัชกรรม แบบหยดใต้ลิ้น ชนิด THC สูงขนาด 5 ml จำนวน 4,500 ขวด ซึ่งจะทยอยส่งให้กับโรงพยาบาลศูนย์ทุกเขตสุขภาพ สุขภาพละ 1 แห่ง รวม 12 แห่ง และผู้ป่วยในโครงการวิจัย 2 ประเภท ได้แก่ การศึกษาวิจัย และการรักษากรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย เพื่อให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานแล้วไม่ได้ผล เข้าถึงการรักษาด้วยสารสกัดน้ำมันกัญชา ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากและที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล และใช้ในการควบคุมอาการโรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทอักเสบ ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เป็นต้น รวมทั้งการศึกษาวิจัยการรักษาโรคมะเร็ง และจะได้รับเพิ่มอีก 2,000 ขวด เป็นชนิด CBD สูง ขนาด 10 ml จำนวน 500 ขวด และชนิด THC : CBD (1:1) ขนาด 5 ml จำนวน 1,500 ขวด รวมเป็นทั้งสิ้น 6,500 ขวดภายในเดือนสิงหาคมนี้
นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับการดำเนินการเร่งด่วนเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสารสกัดน้ำกัญชา 1 ล้านขวด ภายใน 5-6 เดือนนี้ องค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จะทยอยผลิตสารสกัดกัญชาสำหรับใช้บรรเทาและรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ออกมาอย่างต่อเนื่อง 200,000 ขวดต่อเดือนตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป โดยสารสกัดน้ำมันกัญชามาตรฐานทางการแพทย์ ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์และเภสัชกรที่ผ่านการอบรมและสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น
ด้านนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาการใช้กัญชาทางการแพทย์ เตรียมระบบบริการทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย โดยจัดตั้งคลินิกผสมผสานแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย เริ่มดำเนินการในโรงพยาบาล 19 แห่ง ให้บริการโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนแล้ว สามารถสั่งจ่ายสารสกัดน้ำมันกัญชาทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ดูแลให้คำปรึกษาหลังการใช้ ติดตามผลลัพธ์ผลกระทบข้างเคียงทั้งทางกาย จิต และการใช้สารเสพติดผิดวิธี จัดหาสารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์ ที่มีคุณภาพให้เพียงพอ ตรวจพิสูจน์ผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์ เพื่อควบคุมคุณภาพและทราบปริมาณสาร ให้ความรู้ อสม. บุคลากรสาธารณสุข เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้อง สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน
นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า สำหรับน้ำมันกัญชาชนิด THC สูงที่ได้รับจำนวน 3,900 ขวดจะกระจายไปให้โรงพยาบาลศูนย์ 12 แห่ง เขตสุขภาพละ 1 แห่ง ได้แก่ รพ.ลำปาง รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ รพ.สระบุรี รพ.ราชบุรี รพ.ระยอง รพ.ขอนแก่น รพ.อุดรธานี รพ.บุรีรัมย์ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี รพ.สุราษฎร์ธานี รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และในเดือนกันยายน จะได้เริ่มกระจายน้ำมันกัญชาสูตรตำรับแพทย์แผนไทย ผ่านสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านการแพทย์แผนไทย 7 แห่งครอบคลุมทุกภาค ได้แก่ ภาคเหนือ รพร.เด่นชัย จ.แพร่ และรพ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ภาคกลางที่รพ.ดอนตูม จ.นครปฐม และรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร และรพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ภาคใต้ที่รพ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สารสกัดน้ำมันกัญชาล็อตแรก จำนวน 600 ขวด ที่กรมการแพทย์ได้รับเป็นชนิด THC สูง จะนำไปใช้ในการศึกษาวิจัยเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง 100 ขวด เพื่อศึกษาฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็ง 10 ชนิด ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งท่อทางเดินน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งรังไข่ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งตับอ่อน อีก 500 ขวด จะนำไปศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลอง เพื่อศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารสกัดกัญชาในหนูทดลอง รวมถึงทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง สำหรับน้ำมันกัญชาชนิดที่มีอัตราส่วน THC ต่อ CBD 1 : 1 และ CBD สูงที่จะได้รับนั้น จะมอบให้แก่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัย และการศึกษาวิจัยคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว บางส่วนจะนำไปใช้กับผู้ป่วยโรคลมชัก โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันประสาทวิทยา สมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) และอภ.
นอกจากนี้ ได้จัดตั้งคลินิกให้คำปรึกษาการใช้กัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาล / สถาบันเฉพาะทางในสังกัดกรมการแพทย์แล้ว อาทิ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี สถาบันทันตกรรม เป็นต้น และจะครบ 32 แห่งกลางเดือนสิงหาคมนี้ ประชาชนปรึกษาเกี่ยวกับการเฝ้าระวังพิษจากกัญชาได้ที่สายด่วน 1165 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งอยู่ระหว่างการจัดทำ official line ให้คำปรึกษาระหว่างสถานบริการสุขภาพและการส่งต่อผู้ป่วยเมื่อเกิดอาการทางจิตจากกัญชา
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ยา และน้ำมันกัญชาต่าง ๆ ขณะนี้ ได้พัฒนาวิธีการทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เช่น สารเคมีปนเปื้อน โลหะหนัก รวมถึงคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ว่ามีสารสำคัญ (THC, CBD) ตรงตามกำหนดหรือไม่ และจัดทำมาตรฐานทางยาของสมุนไพรกัญชา นอกจากนั้น ยังจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานห้องปฏิบัติการกัญชาทางการแพทย์” เพื่อพัฒนาระบบการตรวจทางห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับกัญชา และเครือข่ายห้องปฏิบัติการของหน่วยงานต่าง ๆ ให้มีมาตรฐานการตรวจที่ได้รับการยอมรับให้เกิดความปลอดภัยและประสิทธิภาพที่ดีในการใช้ของประชาชน
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้ร่วมกับสถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) เปิดตัว Smartbar Application ซึ่งเริ่มแล้วตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้บริการประชาชนในการตรวจสอบข้อมูลทั่วไปของผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่ถูกกฎหมายที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ผ่าน Smart Phone ด้วยระบบ Android ส่วนระบบ IOS จะใช้ได้ตั้งแต่ 15 สิงหาคม 2562 โดยสแกนบาร์โค้ด 2 มิติ (GS1 DataMatrix) บนผลิตภัณฑ์กัญชาฯ ด้วยตนเองได้ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อตรวจสอบข้อมูลพื้นฐานที่ผู้ผลิตแจ้งไว้ กับอย. ได้แก่ ชื่อผลิตภัณฑ์ ความแรง รูปแบบผลิตภัณฑ์ ขนาดบรรจุ ข้อมูลผู้ผลิต เป็นต้น ซึ่งเลขบาร์โค้ดจะพร้อมรองรับการติดตามและสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้ในระดับรายชิ้นแบบ real time ในอนาคตจะสามารถติดตามตรวจสอบความเคลื่อนไหว การนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
นอกจากนี้ อย.ยังมีระบบเฝ้าระวังความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาครอบคลุมผลิตภัณฑ์กัญชา ทั้งกรณีการแพทย์แผนปัจจุบัน และตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ กรณีการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน รวมทั้งกัญชาที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย (กัญชาใต้ดิน) ประชาชนที่ประสบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้กัญชา สามารถรายงานผ่านระบบ on line ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา http://thaihpvc.fda.moph.go.th/ หรือ http://www.fda.moph.go.th
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การฯ ได้ปลูกและผลิตสารสกัดกัญชา เป็นเกรดมาตรฐานทางการแพทย์ หรือ Medical Grade โดยคำนึงถึงความปลอดภัย (Safety) มีสารสกัดที่มีสารออกฤทธิ์ของยาใกล้เคียงกันหมด (Consistency) และต้องมีประสิทธิภาพ (Efficacy) มีการควบคุมมาตรฐานการปลูกให้ปลอดเชื้อรา มีการควบคุมแสงและควบคุมอุณหภูมิ เพื่อให้ได้มาตรฐานการผลิตเป็นยา มีปริมาณและสัดส่วนของสารสำคัญที่ใช้ในการออกฤทธิ์ คือ THC และ CBD เป็นไปตามสัดส่วนความต้องการใช้ของแพทย์ในแต่ละโรคที่จะทำการศึกษาวิจัยและใช้รักษาโรค ปราศจากการปนเปื้อน โลหะหนักและยาปราบศัตรูพืช สำหรับการสกัดในล็อตที่ 2 จากการปลูกในรอบที่ 1 นั้น คาดว่าจะได้สารสกัดน้ำมันกัญชาเพิ่มอีกประมาณ 3,500 ขวด ในเดือนกันยายนนี้ รวมเป็นประมาณ 10,000 ขวด
ส่วนการดำเนินการในระยะเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อภ. จะทำการปลูกในรอบที่ 2 ซึ่งจะได้สารสกัดน้ำมันกัญชาประมาณ 10,000 ขวดทุก 5 เดือน จากนั้นจะได้อีกเดือนละ 30,000 ขวดจากแหล่งวัตถุดิบกัญชาขององค์การเภสัชกรรมเอง และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ที่จะทยอยส่งมอบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 รวมทั้งจะมีปริมาณวัตถุดิบดอกกัญชาแห้งเพิ่มมากขึ้นจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร
สำหรับโครงการระยะที่ 2 เป็นการปรับปรุงอาคารเพื่อขยายพื้นที่ปลูกทั้งแบบ Indoor และ Greenhouse ซึ่งจะสามารถเพิ่มผลผลิตเป็น 150,000 – 200,000 ขวด คาดว่าจะสามารถปลูกได้ในต้นปี 2563 อีกทั้งจะดำเนินการปรับปรุงสายพันธุ์ไทยให้ได้สารสำคัญทั้งชนิดและปริมาณที่เหมาะสม และปลูกในสภาพอากาศของประเทศไทยได้ ส่วนโครงการระยะที่ 3 เป็นการขยายพื้นที่การปลูกและการผลิตสารสกัดกัญชาสู่ระดับอุตสาหกรรมในพื้นที่ขององค์การเภสัชกรรม อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ซึ่งจะมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ รวมถึงการขยายเครือข่าย โดยสร้างความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชน องค์กร หน่วยงานอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นต่อไป
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้จัดทำแบบประเมินความเสี่ยงและแนวทางปฏิบัติให้คำปรึกษาแบบสั้น สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ จัดหลักสูตรฝึกอบรมการให้คำปรึกษาแบบสั้นแก่ผู้ป่วยที่ได้รับผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์แล้วเกิดปัญหาจากการใช้ เพื่อให้การใช้กัญชาปลอดภัยและไม่ป่วยจิต และศึกษาวิจัยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ กรมสุขภาพจิต คือ โรควิตกกังวล ภาวะอารมณ์พฤติกรรมวุ่นวายจากสมองเสื่อม การนอนหลับจากน้ำมันตำรับศุขไสยาศน์ และเตรียมดำเนินการปลูกและสกัด ทำ MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการ หลักสูตรการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ สำหรับแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร จัดทำระบบเฝ้าระวังผลข้างเคียงและแทรกซ้อนจากปัญหาการใช้กัญชา และให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนผ่านระบบสารสนเทศและสื่อต่าง ๆ