วันที่ 28 มกราคม 2567 ณ วัดทุ่งส้าน ตำบลนาไม้ไผ่ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการ โดยมี นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน นายก่อพงศ์ เจ้ยแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 นายชูศักดิ์ สุทธิ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 15 นายพิทักษ์พงษ์ ติ๊บแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดนครศรีธรรมราช นายสมสวัสดิ์ ฉายสินสอน ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุราษฎร์ธานี นายสุรชัย โกยทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 15 พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมติดตามพร้อมบรรยายแนวทางการดำเนินงาน
สืบเนื่องจาก อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช มักประสบปัญหาอุทกภัยเกือบทุกปี จากสภาพพื้นที่ตอนบนมีความลาดชันสูงและเป็นต้นน้ำของลำน้ำสายหลักที่สำคัญ ได้แก่ คลองท่าเลา คลองตม คลองท่าโหลน คลองเปิกและคลองวังหีบ เมื่อเกิดฝนตกหนัก กระแสน้ำไหลแรงและมีความเร็วมาก ประกอบกับสภาพปัจจุบันตื้นเขิน และด้วยการขยายตัวของชุมชนเมือง ทำให้มีพื้นที่รับน้ำลดลง อีกทั้งฝายทดน้ำต่างๆที่อยู่ในคลองสาขาบางแห่งมีตะกอนสะสมเป็นจำนวนมาก เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝายควนกรด ที่สามารถระบายน้ำได้เพียง 154 ลูกบาศ์กเมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ในขณะที่ปริมาณน้ำท่าในรอบปีการเกิดซ้ำ รอบ 25 ปี ประมาณ 222 ลบ.ม. ต่อวินาที ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำหลาก และน้ำที่เข้าท่วมในพื้นที่เทศบาลเมืองทุ่งสงได้ นอกจากนี้ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการประตูระบายน้ำควนกรด พร้อมระบบส่งน้ำและอาคารประกอบ รวมถึงขุดลอกแก้มลิง เป็นการชะลอน้ำไม่ให้เข้าท่วมพื้นที่ท้ายน้ำ และเป็นพื้นที่สำหรับกักเก็บน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ บ้านนาขี้เป็ด หมู่ที่ 3 ตำบลควนกรด อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนด้านขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภค บริโภค เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสามารถกักเก็บน้ำและส่งน้ำได้ประมาณ 1.3 ลบ.ม. ต่อปี และช่วยเพิ่มการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก พื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 4,500 ไร่ และบรรเทาอุกภัยในเขตเทศบาลเมืองทุ่งสงและบริเวณใกล้เคียงไม่น้อยกว่า 10,000 ครัวเรือน อีกทั้งยังเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรอีกด้วย
ในการนี้ ร้อยเอกธรรมนัสฯ ได้มอบหมายให้ กรมชลประทานเร่งดำเนินการโครงการดังกล่าว เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำ ตามแผนที่วางไว้เพื่อให้มีแหล่งน้ำต้นทุนไว้ใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรกรรม และถือเป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ให้ยั่งยืนในพื้นที่