วันที่ 6 ส.ค.62 ณ ห้องวิภาวดี 1 ชั้น 4 โรงแรมปริ๊นส์ตั้น พาร์ค ดินแดง กรุงเทพฯ นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมรับฟังการถอดบทเรียนและรับข้อเสนอจากเวทีนำเสนอถอดบทเรียนกระบวนการคุ้มครองสิทธิและคุ้มครองสวัสดิภาพ “เรื่องเล่าผู้ประสบความรุนแรงและคนทำงานคุ้มครองสิทธิ” จัดโดย มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ขอขอบคุณ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.เพ็ญศรี พิชัยสนิท ประธานมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม คุณภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนัก9 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคุณสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม รวมถึงคณะเจ้าหน้าที่ ผู้ประสบเหตุ และพี่น้องสื่อมวลชนทุกท่าน ตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมาและจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 สิงหาคม 2562 นี้ พระราชบัญญัติฉบับนี้ ยังคงหลักการเรื่องของการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ตามหลัก domestic violence อยู่ครบถ้วน มีขอบเขตการทำงานที่กว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านกฎหมายหากเกิดการกระทำความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัว ในฐานความผิดทางอาญาครั้งเดียว สามารถฟ้องได้ถึงสองศาล คือศาลอาญา และศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนในการจัดการและมีกระบวนการกฎหมายที่เข้มข้นขึ้น นอกจากนี้ยังมีมาตรการเชิงป้องกัน แก้ไข และส่งเสริมพัฒนาครอบรัว รวมถึงการคุ้มครองสวัสดิภาพในทุกด้านของครอบครัว กฎหมายฉบับนี้ มีรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย ทั้งหมด 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข จึงครอบคลุมทั้งหมด ตั้งแต่ การเริ่มต้นสร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง เมื่อเกิดปัญหา ก็มีการแก้ไข โดยหวังว่าท้ายที่สุดจะได้ครอบครัวที่สมบูรณ์อีกครั้ง
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้ มีการกำหนดนโยบายในเชิงปฏิบัติในเรื่องการทำงานของ พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 สิงหาคม 2562 นี้ โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ จะต้องดำเนินการในฐานะศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะเป็นด่านแรกในการรับแจ้งเรื่องราว และเป็นผู้แทนในการร้องทุกข์กล่าวโทษ แทนผู้เสียหายได้ด้วย ซึ่งเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน และละเอียดอ่อนที่จะต้องดำเนินการ
นายเลิศปัญญา กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการเตรียมการ ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการประชุมหารือ รับฟังข้อคิดเห็น และเตรียมพร้อมสำหรับดำเนินการตามกระบวนการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้อยู่ โดยมีทั้งผู้พิพากษา อัยการ และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จากทั่วประเทศ ที่มาพบกันเพื่อหารือ และนำข้อเสนอต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น กระบวนการคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ผู้กระทำความรุนแรงกลับเข้ามากระทำซ้ำได้ ในช่วงระยะเวลาที่มีการคุ้มครองอยู่ หรือเรื่องกระบวนการยื่นคำร้อง การรับคำร้องต่าง ๆ ก็กำลังเตรียมการอยู่ ซึ่งพยายามจะให้เข้าที่เข้าทางโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ การดำเนินการเรื่องดังกล่าวภาครัฐเองไม่สามารถทำงานได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยการทำงานจากทุกภาคส่วน ทั้งมูลนิธิ สมาคม NGOs ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนงานมาโดยตลอด รวมถึงพี่น้องประชาชนต้องเข้าใจกฎหมายฉบับนี้ด้วย การสร้างความเข้าใจกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่ซับซ้อน เข้าใจยากพอสมควร การสื่อสารออกไปให้ประชาชน และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมีอยู่หลายกลุ่ม จึงต้องสร้างช่องทางการสื่อสารหลายช่องทางให้ทุกกลุ่มเข้าใจตรงกัน โดยระยะแรกจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้มาก แต่ในเรื่องของการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ไม่ได้น้อยไปกว่ากฎหมายเดิม เพราะทำต่อเนื่องจากกฎหมายเดิมอยู่แล้ว แต่เราจะเพิ่มประสิทธิภาพ และส่งเสริมป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ อย่างกรณีตัวอย่างที่เป็น Battered women syndrome ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น มิใช่ตามแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียว เช่น การพัฒนาหลักสูตรการเสริมสร้างสัมพันธภาพครอบครัว การใช้กลไกระดับชาติ คณะกรรมการระดับจังหวัด ทุกส่วนจะร่วมกันทำงานและขับเคลื่อนกฎหมายฉบับนี้ให้ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน สำหรับข้อเสนอที่ได้ยื่นมานั้นก็จะขอรับข้อเสนอทุกข้อไว้พิจารณา และก็ขอรับข้อเสนอทุกข้อไว้พิจารณา และจะเร่งพัฒนาศักยภาพ เสริมทักษะในทุกด้านที่เกี่ยวข้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทุกคน เพื่อทำงานด้วยความเข้มแข็งเพื่อประโยชน์ของพี่น้องทุกๆ ท่าน อย่างเป็นธรรม นายเลิศปัญญา กล่าวในตอนท้าย
###############
ข้อเสนอต่ออธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการและนโยบายด้านการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 (โดยจะมีผลบังคับใช้ 20 สิงหาคม 2562)
1) มีความชัดเจนในการควบคุมผู้กระทำความรุนแรงด้วยความรวดเร็ว มีสถานที่ในการควบคุมผู้กระทำฯ เพื่อไม่ให้กลับมาทำร้ายซ้ำได้อีก (ทำไมผู้หญิงต้องออกจากบ้าน)
2) ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวร่วมกับเขต และผู้นำชุมชนในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่องและตลอดไป
3) ควรมีนักสังคมสงเคราะห์ทุกโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงชุมชนและชนบทต่างๆ ควรมีคลินิกให้คำปรึกษาเรื่องความรุนแรงกระจายอยู่ทั่วประเทศ
4) มีการจัดการให้ความรู้ ความเข้าใจ จัดการอบรมให้กับหน่วยงานตำรวจ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติการส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 อย่างทั่วถึง เพื่อความเข้าใจ และบังคับใช้กฎหมายอย่างชัดเจน ถูกต้อง และเป็นธรรม
5) ถ้าเหตุเกิด ผู้ประสบเหตุมีการแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถแจ้ง หรือประสานไปยังศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวได้ทันที (ตามมาตรา 25)
6) ให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงได้มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการการบำบัดผู้กระทำความรุนแรงร่วมกับศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว
7) กำหนดระเบียบ วิธีปฏิบัติ ตามมาตรา 37 ให้ชัดเจนว่า “กรณีจำเป็นเร่งด่วน” แค่ไหน เพียงใด และกำหนดให้หัวหน้าศูนย์มีอำนาจออกคำสั่งคุ้มครอง “ชั่วคราวได้เท่าที่จำเป็น” ระยะเวลาเท่าไหร่ และหากผู้กระทำฝ่าฝืนคำสั่ง จะมีบทลงโทษอย่างไร
8) ให้ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวมีระบบจัดการอย่างเป็นระบบ การรับเรื่องควรมีเจ้าหน้าที่ที่มีความเข้าใจแนะนำ หรือแจ้งสิทธิ และชี้ช่องทางในการช่วยเหลือ การติดต่อประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำโดยการส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
9) ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว สามารดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาตลอด 24 ชั่วโมงไม่เว้นวันหยุด เพื่อให้ผู้ประสบปัญหาได้รับการช่วยเหลืออย่างทันถ่วงที
—————————————