เยาวชน 20 จังหวัดภาคอีสานเข้าค่าย “Young Talent” รวมพลเยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สรรค์สร้างสังคม สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้เยาวชนรุ่นใหม่

วันที่ 18 มกราคม 2567 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ Young Talent รวมพลเยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สรรค์สร้างสังคม “Content Creator” กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีนางคณิตา ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นางสาวเพชรรัตน์ สายทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หัวหน้าส่วนราชการ ให้การต้อนรับ มีเด็กและเยาวชน ข้าราชการสังกัดสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือจาก 20 จังหวัด จำนวน 80 คน เข้าร่วมอบรมฯ ระหว่างวันที่ 18 – 20 มกราคม 2567 ณ โรงแรมสยามแกรนด์ จังหวัดอุดรธานี

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและเครือข่ายเยาวชน seed Thailand จัดอบรมเชิงปฏิบัติการฯ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในการพัฒนา สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในการส่งเสริมให้เกิดการผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อเป็นสื่อกลางเผยแพร่ค่านิยมและวัฒนธรรมอันดีงามให้แพร่หลายในสังคม ประกอบกับการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและการสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้กับคนในชาติ ให้เกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าของการมีส่วนร่วมในการรักษาวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทย ร่วมเฝ้าระวังกระแสวัฒนธรรมการเบี่ยงเบนที่มากับสื่อในยุคการสื่อสารดิจิทัล ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมในรูปแบบต่าง ๆ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นจึงต้องหล่อหลอมเด็กเยาวชนให้รู้จักคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ปลูกฝังค่านิคม คุณธรรม จริยธรรมอันดีเป็นพลเมืองที่ดีตามแนวทาง การพัฒนาเยาวชนและให้รู้ทันภัยคุกคามรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21 สามารถรับมือกับภัยคุกคามและการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมและกลโกงออนไลน์ รู้เท่าทันข่าวปลอม ตลอดจนรู้เท่าทันการสื่อสารยุคดิจิทัลในทุกมิติ

“การจัดอบรมครั้งนี้ยังเป็นการเสริมสร้างทักษะการผลิตสื่อสร้างสรรค์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเป็นนักสร้างสรรค์และผลิตเนื้อหาสื่อ (Content Creator) อย่างมืออาชีพ ที่สำคัญพัฒนาทักษะให้กับเยาวชน ที่เป็นเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม เกิดความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสามารถเป็นผู้สร้างสรรค์และผลิตเนื้อหาสื่อ (Content Creator) ที่สร้างสรรค์นำไปเผยแพร่ผ่านสื่อในแพลตฟอร์มต่างๆ และในโซเชียลมีเดีย” ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้จะเป็นการขยายและสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมที่มีภูมิคุ้มกันทางสังคมในทุกมิติ และร่วมเป็นเครือข่ายในการติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยสังคม และเฝ้าระวังพฤติกรรมที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรม และร่วมแก้ไขปัญหาสังคมด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนนำความคิดสร้างสรรค์และทักษะการผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ไปขยายผลให้เกิดสื่อที่ดีและสร้างสรรค์เผยแพร่สู่สังคมและนำไปต่อยอดเพื่อเป็นอาชีพและสร้างรายได้ให้กับตัวเองในอนาคตต่อไป