วันที่ 6 ส.ค. 62 เวลา 14.00 น. ณ เนินตรวจการณ์ 152 บ้านภักดีแผ่นดิน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมเป็นสักขีพยานในการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลคงคลังของประเทศไทย ในพิธี “การทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลคงคลังของประเทศไทย พ.ศ. 2562” ซึ่งจัดโดยกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย (ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร) โดยนางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มอบหมายให้ผู้แทนกองส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการคนพิการ นางสาววิษฐิดา อุ้ยตยะกุล ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริม ศูนย์บริการคนพิการ เข้าร่วมในพิธี ซึ่งมีพลเอก ชัยชนะ นาคเกิด เสนาธิการทหาร เป็นประธานฯ พร้อมด้วยคณะทูตประเทศที่ให้การสนับสนุนการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมของประเทศไทย ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย ภาคประชาสังคมด้านการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ เนินตรวจการณ์ 152 บ้านภักดีแผ่นดิน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว
ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมฯ กล่าวว่า การปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมของประเทศไทย เป็นผลสืบเนื่องจากประเทศไทยได้เข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรือ อนุสัญญาออตตาวา ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2540 ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ โดยกองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิด แจ้งเตือน และให้ความรู้งานช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุ่นระเบิด ซึ่งมีการเก็บกู้ทุ่นระเบิด แล้วเสร็จ 17 จังหวัด และอยู่ระหว่างดำเนินการ 10 จังหวัด หนึ่งในนั้นเป็นจังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา ที่ยังหลงเหลือทุ่นระเบิดอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับ กระทรวง พม. โดย พก. มีภารกิจหลักในการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิของคนพิการทั่วไป รวมทั้งคนพิการจากการประสบภัยทุ่นระเบิด ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ผ่านกลไกศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัด และศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ซึ่งพบว่ามีคนพิการจากการประสบภัยทุ่นระเบิดใน 27 จังหวัด จำนวน 1,043 คน โดย พก. ได้ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิของคนพิการจากการประสบภัยทุ่นระเบิด ด้วยการขึ้นทะเบียนเป็นคนพิการเพื่อรับการช่วยเหลือในด้านต่างๆ อาทิ เบี้ยความพิการ กายอุปกรณ์ การฟื้นฟูสมรรถภาพ การปรับปรุงซ่อมแซมที่พักอาศัย เงินทุนกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ และการส่งเสริมอาชีพ เป็นต้น
ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมฯ กล่าวต่อว่า การทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ 1 มีขึ้นเมื่อปี 2546 จำนวน 335,843 ทุ่น และครั้งนี้นับเป็นครั้ง 2 จำนวน 3,133 ทุ่น โดยได้ดำเนินการเมื่อวันที่ 1 – 10 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความร่วมมือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในการทำลายทุ่นระเบิดฯ นับเป็นการทำลายทุ่นระเบิดครั้งใหญ่ที่สุด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุ่นระเบิดฯ หมดไปจากประเทศไทย และจะมีผลทำให้ประเทศไทยมีสถานะเป็นรัฐภาคีฯ ที่ไม่มีทุ่นระเบิดในการครอบครองอีกต่อไป ถือเป็นการแสดงออกถึงเจตนารมณ์และความจริงใจของประเทศไทยในการร่วมมือปฏิบัติตามพันธกรณีในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาออตตาวา และยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนถึงอันตรายจากทุ่นระเบิดฯ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ตามแนวชายแดนอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ สำหรับสถานการณ์คนพิการในจังหวัดสระแก้ว มีจำนวนทั้งสิ้น 18,962 คน เพศชาย จำนวน 10,521 คน เพศหญิง จำนวน 8,439 คน ซึ่งจากการสำรวจพบว่าคนพิการในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว มีผู้ที่ประสบภัยจากทุ่นระเบิด จำนวนทั้งสิ้น 220 คน แบ่งเป็น อำเภออรัญประเทศ จำนวน 109 คน อำเภอตาพระยา จำนวน 69 คน และอำเภอโคกสูง จำนวน 42 คน กระทรวง พม. โดย พก. จึงได้ตระหนักถึงปัญหาความยากลำบากของคนพิการจากการประสบภัยทุ่นระเบิด จึงได้ขับเคลื่อนแผนการดำเนินงาน ดังนี้ 1) การส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิคนพิการจากการประสบภัยทุ่นระเบิด 2) การให้ความรู้แก่ทหารที่ปฏิบัติงานทุ่นระเบิดในพื้นที่ให้เป็นผู้นำสารสู่ชุมชน 3) การขับเคลื่อนศูนย์บริการคนพิการจังหวัดและศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ซึ่งเป็นกลไกในระดับพื้นที่เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิคนพิการจากการประสบภัยทุ่นระเบิด และ 4) การกำหนดจัดการประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุ่นระเบิดในพื้นที่ 27 จังหวัด
สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การมอบรถเข็นโยก จำนวน 15 คัน ถุงยังชีพ การบริการจัดทำขาเทียม การมอบอุปกรณ์และเงินสมทบเพื่อการประกอบอาชีพ และนิทรรศการเกี่ยวกับการปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมของประเทศไทย การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด การสาธิตการเก็บกู้ทุ่นระเบิด การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่ และร่วมเป็นสักขีพยานการทำลายทุ่นระเบิดคงคลังประเทศไทย
“ขอขอบคุณ ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นหน่วยปฎิบัติหลักในการดำเนินการทำลายทุ่นระเบิดของประเทศไทย โดยได้พยายามอย่างเต็มความสามารถในการขจัดอันตรายดังกล่าวให้หมดไป ซึ่งมีส่วนสำคัญในการลดจำนวนคนพิการในประเทศไทยในภาพรวม นำมาซึ่งพื้นที่ปลอดภัยเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป”
///////////////////////////////////