แพทย์แนะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รับมือโรคกรดไหลย้อน

สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ เตือนผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การรับประทานอาหาร พักผ่อน อกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคกรดไหลย้อนเป็นภาวะที่น้ำย่อย ในกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารทำให้เกิดอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหาร โดยเกิดจากการที่มีความดันของหูรูดต่ำหรือหูรูดเปิดบ่อยกว่าปกติ ทำให้กรดในกระเพาะอาหารสามารถไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหารได้ หรือผู้ที่เป็นโรคไส้เลื่อนกะบังลมทำให้กระเพาะอาหารบางส่วนเลื่อนเข้าไปอยู่ในช่องอก มีโอกาสเกิดการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหาร เพิ่มมากขึ้น หรือเกิดจากความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหารทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร นานกว่าปกติ เพิ่มโอกาสในการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหาร นอกจากนี้ยังพบว่าอาจเกิดจาก โรคอ้วน การตั้งครรภ์ หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาหอบหืด ยารักษาความดันบางชนิด ยารักษาโรคซึมเศร้า และการสูบบุหรี่

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคกรดไหลย้อนที่พบได้แก่ แสบร้อนบริเวณหน้าอก ซึ่งจะเป็นมากหลังรับประทานอาหาร มีอาการเรอเปรี้ยว คือมีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก อาจทำให้เกิดภาวะหลอดอาหารอักเสบมีเลือดออกจาก            หลอดอาหาร กลืนติด กลืนลำบาก ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หลังจากรับประทานอาหาร เจ็บหน้าอกจุกคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ ไอแห้งๆ เสียงแหบ เจ็บคอ เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณ กล่องเสียง ทำให้เกิดกล่องเสียงอักเสบ อย่างไรก็ตามโรคกรดไหลย้อนสามารถดูแลรักษาตนเองเบื้องต้นได้โดย หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไขมันสูง เช่น ของทอด แกงกะทิ ฟาสต์ฟู้ด เนื่องจากอาหารที่มีไขมันสูงจะลดความดันของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหาร และทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานขึ้น ควรแบ่งรับประทานอาหารเป็นมื้อย่อย หลายๆมื้อแทนการรับประทานอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ควรนอนหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้วอย่างน้อย  3 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อรักษาน้ำหนักตัว และไม่ใส่เสื้อรัดรูปจนเกินไป

 

************************************************************************

#กรมการแพทย์ #สถาบันโรคทรวงอก #โรคกรดไหลย้อน