ปลัด พม. หนุนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้โครงสร้างประชากรเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ ด้าน TDRI ห่วงเด็กในครอบครัวยากจน – เปราะบาง แนะให้ลงทุนในเด็ก คุ้มค่าที่สุด

วันที่ 12 มกราคม 2567 เวลา 09.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดโครงการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อความมั่นคงของมนุษย์ในประเทศไทย โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง พม. เข้าร่วม ทั้งนี้ มีผู้แทนจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารโลก วิทยาลัยประชากรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมเสวนา ณ ห้องประชุมประชาบดี ชั้น 19 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กทม.

นายอนุกูล กล่าวว่า จากแนวโน้มสถานการณ์ทางสังคมของประเทศไทย มีความซับซ้อนมากขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศไทย มีความท้าทายต่อบทบาทและภารกิจของกระทรวง พม. ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์วิกฤติเด็กเกิดน้อย อัตราส่วนพึ่งพิง และการแบกรับภาระของคนวัยแรงงานเพิ่มมากขึ้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เป็นต้น กระทรวง พม. เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาสังคม สร้างความเป็นธรรม และความเสมอภาคในสังคม ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิต สถาบันครอบครัวและชุมชน ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนานโยบายทางสังคมเชิงรุกที่เกี่ยวข้องกับประชาชนกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย ตั้งแต่ เด็ก เยาวชน คนพิการ สตรีและครอบครัว ผู้สูงอายุ คนไร้ที่พึ่ง รวมถึงกลุ่มเปราะบางในสังคม มาโดยตลอด และเห็นว่า การวิเคราะห์สถานการณ์ของกลุ่มประชากรแต่ละช่วงวัยดังกล่าว เพื่อออกแบบและพัฒนานโยบายด้านสังคม จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ทางวิชาการอย่างครอบคลุมและลึกซึ้ง ด้วยความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนมุมมอง องค์ความรู้ จากหลายศาสตร์สาขาวิชา ซึ่งการจัดการเสวนาทางวิชาการในวันนี้ จึงเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองและองค์ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อความมั่นคงของมนุษย์ในประเทศไทย และเป็นการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายในเชิงรุกอย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางประชากร

รศ.ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์อัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตาย และจากสถานการณ์ปี 2565 จำนวนประชากรของประเทศไทยลดลง ปัจจุบันนี้ ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ หากจะมีลูก จะต้องมีลูกเฉลี่ย 2.1 คน ซึ่งวันนี้เฉลี่ยมีเพียงแค่ 1 คน เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก นอกจากนี้ ครอบครัวที่ส่วนใหญ่มีลูกเยอะจะเป็นครอบครัวที่อยู่ในฐานะยากจน แล้วพอมีลูก จะไม่สามารถดูแลลูกได้อย่างดี จึงอาจจะต้องให้ปู่ย่าตายายเป็นผู้ดูแล เป็นครอบครัวฟันหลอ เพราะพ่อแม่ต้องไปทำงาน เมื่อไม่มีคนดูแล เด็กโตขึ้นมาอาจจะติดยา ซึ่งจะเห็นได้เป็นจำนวนมากตามชนบท ดังนั้น จึงมีคำถามประการที่หนึ่งว่า เราจะมีวิธีดูแลเด็กจากครอบครัวยากจน ครอบครัวเปราะบางได้อย่างไร ประการที่สอง จากการวิจัยพบว่าการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดคือการลงทุนในเด็ก ตั้งแต่เด็กอยู่ในท้องแม่จนถึงอายุประมาณ 4-5 ขวบ เป็นช่วงที่รัฐบาลและครอบครัวควรลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ และอีกประการหนึ่ง คือ จะต้องทำอย่างไรให้คนไทยอยากมีลูก ซึ่งหลายประเทศมีนโยบายส่งเสริมให้ครอบครัวมีลูก แต่ทำไม่สำเร็จ แต่ในบางประเทศมีโครงการดังกล่าว และเริ่มทำสำเร็จ

สำหรับเรื่องลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดคือการลงทุนในเด็ก ควรจะต้องมีระบบการให้บริการการดูแลเด็กตั้งแต่อายุ 3 เดือน จนกระทั่งก่อนเข้าศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งจะต้องมีการจัดบริการ ซึ่งชุมชนต่างๆ ต้องมีระบบการจัดการ ไม่ใช่มีแค่สถานดูแล แต่ต้องมีคนดูแล ซึ่งคนที่มาดูแลต้องมีการฝึกอบรม ฝึกทักษะ และภาครัฐจะต้องสนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งเชิญเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุน ซึ่งจะช่วยให้เด็กในครอบครัวยากจนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการพัฒนาสมอง สติปัญญา ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของเด็ก ส่วนเรื่องนโยบายที่จะต้องทำอย่างไรให้ครอบครัวที่มีฐานะทั่วไป อยากมีลูกมากขึ้น ซึ่งต้องเข้าใจว่าคนสมัยใหม่ไม่อยากมีลูก อยากมีชีวิตอิสระ เราจะต้องสร้างการบริการการดูแลเด็กตั้งแต่อายุ 3 เดือน จนถึง 4-5 ขวบ ซึ่งเป็นงานที่ละเอียดอ่อนมาก และถ้าเรามีการจัดการระบบบริการที่ดี แล้วพ่อแม่ของเด็กเกิดความสบายใจว่าสถานดูแลสามารถดูแลลูกเขาได้ อาจจะเป็นการช่วยให้ครอบครัวอยากมีลูก ไม่เช่นนั้นจะทำให้สังคมเรามีแต่ผู้สูงอายุในประเทศไทย

#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม #esshelpme #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ศรส #การเปลี่ยนแปลง #โครงสร้างประชากร