วันที่ 5 ส.ค. ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) กล่าวในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาและลงนามความร่วมมือ “สะพานเชื่อมโยงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการอาชีวศึกษา” ที่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์(ชลบุรี) ว่า โครงการสะพานเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นนี้ สืบเนื่องมาจากภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งถือเป็นภารกิจของประเทศที่จะใช้การศึกษาเพื่อการแก้จน สร้างคน สร้างชาติ แต่ที่ผ่านมา การศึกษา ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)เป็นหลัก โดย สพฐ.ซึ่งมีหน้าที่วางพื้นฐาน และจัดการเรียนการสอนให้เด็กได้รู้จักตัวตน ความสนใจ ความถนัด เพื่อเด็กจะได้เลือกเรียนในสิ่งที่เป็นความถนัดหรือสนใจ รวมถึงสายอาชีพ เพื่อการประกอบอาชีพในอนาคต แต่เรายังไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ และที่เป็นจุดอ่อน คือ การแนะแนวที่ไม่สามารถแนะแนวอาชีพเขาได้อย่างแท้จริง เนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ รวมทั้งการบรรจุบุคลากร ครูผู้สอนที่ไม่สนองต่อความต้องการของนักเรียน
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนข้อจำกัดของอาชีวศึกษาในขณะนี้ คือ สอศ.มีหน้าที่เป็นแกนหลักโดยตรงที่จะใช้การศึกษาแก้จน สร้างคน สร้างชาติ แต่จำนวนนักเรียนที่มาเรียนอาชีวะยังมีปริมาณไม่เพียงพอที่จะผลิตกำลังคนตามความต้องการของประเทศ ทั้งระดับปฏิบัติการ นายช่างสั่งการชั้นสูง หรือ นวัตกรที่คิดนวัตกรรมใหม่ ๆ จากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้เกิดสะพานเชื่อมโยงการจัดการศึกษา โดย สอศ.ต้องเข้าไปช่วย สพฐ.แนะแนววิชาชีพพื้นฐานให้นักเรียนตั้งแต่ ม.ต้น เพื่อให้เด็กรู้จักตัวตนได้เร็วขึ้น และถ้ารู้ตัวตนตอน ม.ปลาย เราก็จะได้เด็กที่มีความรู้ทั้งวิชาการที่สามารถพัฒนานวัตกรได้ ดังนั้นมั่นใจว่าสะพานเชื่อมโยงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการอาชีวศึกษาเป็นการใช้การศึกษา เพื่อแก้จน สร้างคน สร้างชาติ ได้อย่างแน่นอน
“ความร่วมมือสะพานเชื่อมโยงระยะแรกระหว่าง สพฐ. กับ สอศ.ซึ่งเริ่มมากว่า 1 ปีแล้วสามารถทำความเข้าใจและมีการลงนามความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาทั้ง 2 สังกัดไปได้มากแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จน่าพอใจ ขณะเดียวกันเรากำลังขับเคลื่อนสะพานเชื่อมโยงระยะที่ 2 เป็นการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้เรามีการทำความตกลงกับต่างประเทศมากกว่า 10 ประเทศแล้ว ได้แก่ จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ อเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่น เป็นตน โดยเป็นการเชื่อมด้วยหลักสูตรทวิภาคีกับวิทยาลัยในต่างประเทศ ซึ่งเด็กที่ไปเรียนจะมีโอกาสได้ฝึกงานกับสถานประกอบการ ซึ่งจะได้ทั้งประสบการณ์และได้เบี้ยเลี้ยงเป็นค่าแรง ทำให้หลายคนมีเงินเหลือกลับมาหลักแสนบาทมาประกอบอาชีพได้ ทั้งนี้ การมีสะพานเชื่อมโยงทำให้เห็นว่า เราสามารถทำให้เด็กรู้จักตัวตนและเห็นอนาคตของตนเอง ซึ่งจะทำให้ประเทศเรามีคนที่มีความหลากหลาย มีความสามารถ มีอาชีพ ที่สามารถแก้จน เป็นการสร้างคน และสร้างชาติได้ในที่สุด”ดร.บุญรักษ์กล่าว