‘นพ.อำพล’ ปาฐกถาพิเศษในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ชี้ สังคมสูงอายุเปรียบเหมือนบ้านเก่าแก่ทั้งหลัง ขณะที่กิจการผู้สูงอายุเป็นเรื่องของ ‘คนที่แก่’ เท่านั้น ฉะนั้นต้องสานพลังทำงานปรับเปลี่ยนระบบต่างๆ ของบ้านที่เก่าแก่ให้เท่าทัน พร้อมๆ กับการดูแลคนแก่และคนทุกช่วง ขณะที่ ‘นพ.ถาวร’ เปิดสถิติคนสูงอายุ 60% ยังทำงานอยู่ และมีผู้สูงอายถึง 4 ล้านคน จาก 11 ล้านคน ที่ถูกทิ้งให้อยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 ภายใต้ประเด็นหลัก “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาส และความหวังอนาคตประเทศไทย” ซึ่งภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษ“สานพลังรับมือสังคมสูงวัย ภารกิจร่วมของทุกคน” โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา และประธานอนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปด้านสังคม กิจการผู้สูงอายุและสังคมสูงวัย ท่ามกลางผู้ที่เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
นพ.อำพล ปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ในวันนี้ ประเทศสวีเดนมีสัดส่วนประชากรอายุเกิน 65 ปี มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตามนิยามขององค์กรสหประชาชาติ (UN) เรียกว่าเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” (Super-Aged Society) แต่ทั้ง 2 ประเทศนี้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีรายได้สูง จึงอยู่ในอาการ “รวยก่อนแก่” สำหรับประเทศไทยในวันนี้เรามีสัดส่วนประชากรอายุเกิน 60 ปี ร้อยละ 20 เรียกว่าเป็นสังคมสูงอายุสมบูรณ์ (Aged Society) และอีกเพียง 10 ปีข้างหน้า หรือใน พ.ศ. 2573 เราจะมีสัดส่วนประชากรอายุเกิน 65 ปี เป็นร้อยละ 20 กลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดตาม 2 ประเทศ ที่ข้างต้น ทว่าประเทศของเรายังเป็นประเทศรายได้ปานกลางสูง (Upper Middle Income Country) ที่ติดหล่ม “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap) มานานหลายปี ยังไม่มีทีท่าว่าจะหลุดพ้นได้ เราจึงอยู่ในอาการ “จนก่อนแก่”
นพ.อำพล ปาฐกถาต่อไปว่า สังคมสูงอายุที่เรียกอีกชื่อว่าสังคมสูงวัยนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุเท่านั้น และไม่ใช่แค่เรื่อง “กิจการผู้สูงอายุ” เพราะเรื่องสังคมสูงวัยเป็นเรื่องที่กว้าง และใหญ่กว่าเรื่องกิจการผู้สูงอายุ สังคมสูงวัยหมายถึงสังคมที่มีการเปลี่ยนผ่านประชากร โดยสัดส่วนผู้สูงอายุเข้าตามเกณฑ์ที่กำหนด สัดส่วนเด็ก เยาวชน และวัยแรงงานลดลง มีผลสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องและกระทบกับทุกมิติ ทุกระบบ ทุกสาขาในสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา สุขภาพ แรงงาน สิ่งแวดล้อม ความรู้ เทคโนโลยี การสื่อสาร และการจัดการของทุกภาคส่วน โดยมีระบบกิจการผู้สูงอายุเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องสังคมสูงวัย
นพ.อำพล กล่าวอีกว่า สังคมสูงวัยเปรียบได้กับบ้านทั้งหลังที่เก่าแก่ ซึ่งเราต้องพัฒนาให้ทันสมัย เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่ของพลวัตรประชากรและพลวัตรด้านอื่นๆ ส่วนกิจการผู้สูงอายุเป็นเรื่องของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้านที่เก่าแก่หลังนั้น ซึ่งเมื่อปี 2558 คณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านสังคม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เสนอรายงานเรื่อง “การปฏิรูประบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย” (ประเด็นปฏิรูปที่ 30) เปิดกรอบความคิดเรื่องสังคมสูงวัยที่กว้างกว่าเรื่องกิจการผู้สูงอายุเป็นทางการครั้งแรก และเดือน ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา ได้เสนอรายงานเรื่อง “การสานพลังเชิงระบบรับมือสังคมสูงวัย” ต่อยอดจากงานเดิมของ สปช. มีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นองค์กรร่วมจัดทำรายงานหลัก ซึ่งเน้นเรื่องการรับมือกับระบบการจัดการบ้านที่เก่าแก่ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องคนแก่เท่านั้น
ทั้งนี้ จากรายงานเรื่อง “การสานพลังเชิงระบบรับมือสังคมสูงวัย” ได้ระบุถึงผลกระทบและแนวโน้มภาพรวมของสังคมสูงวัย รวมถึงจุดคานงัด 4 มิติของสังคมสูงวัย ทั้งมิติเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ตลอดจนข้อเสนอแนะการสานพลังเชิงระบบรองรับสังคมสูงวัย ได้แก่ 1. ส่งเสริมนวัตกรรมและธุรกิจที่สอดคล้อง 2. สร้างทักษะและทัศนคติที่จำเป็นต่อโลกยุคใหม่ 3. ปรับโครงสร้างตลาดแรงงานให้รองรับสังคมสูงวัย 4. สร้างความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออม 5. พัฒนามาตรการดึงดูดแรงงานและส่งเสริมการพัฒนาแรงงานแฝง 6. วางระบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีความมั่นคงทางการเงิน 7. สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร ส่งเสริมสุขภาวะและยั่งยืน 8. ประสานแผนการสร้างพื้นที่สุขภาวะและแผนคมนาคม 9. ปรับกระบวนการนโยบายประชากร 10. ส่งเสริมการสร้างสุขภาพและสุขภาวะในทุกช่วงวัย 11. ยกระดับบริการสุขภาพปฐมภูมิแบบมีส่วนร่วม 12. บูรณาการการดูแลสุขภาพระยะกลางและระยะยาวแบบไร้รอยต่อ 13. สร้างเสริมชุมชนท้องถิ่น ชุมชนเมือง ชุมชนอื่นๆ ให้เข้มแข็ง 14. ส่งเสริมทัศนคติที่ดีต่อการอยู่ร่วมกัน 15.ส่งเสริมความพร้อมในการสร้างครอบครัวคุณภาพ 16. จัดสวัสดิการอุดหนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก 17.ส่งเสริมการจัดบริการดูแลเด็กและคนสูงอายุ และ 18. สร้างความพร้อมด้านข้อมูลและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง
“ข้อเสนอเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องของสังคมสูงวัยที่เราทุกคนต้องตระหนัก เรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนระบบต่างๆ ของบ้านที่เก่าแก่ให้เท่าทัน โดยต้องทำไปพร้อมๆ กับการดูแลคนแก่และคนทุกช่วงวัยที่อยู่ในบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่และยาก จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกองค์กร ทุกภาคส่วน สานพลังกันทำ เหมือนกับการแบกของหนักที่ต้องช่วยกันแบกหามจึงจะยกให้เคลื่อนที่ได้ เพราะเรื่องสังคมสูงวัยนั้นใหญ่และกว้างกว่าเรื่องงานกิจการผู้สูงอายุ เป็นเรื่องของการจัดการบ้านที่เก่าแก่ทั้งหลัง ซึ่งเป็นภารกิจของทุกคน ทุกภาคส่วน เป็นการรับมือสังคมสูงวัยที่ต้องช่วยกันลงมือทำและต้องสานพลังกันทำให้จริงจังในทุกด้าน โดยภาครัฐต้องเข้าใจให้ถูกต้องและส่งเสริมสนับสนุนให้ถูกทิศทาง” นพ.อำพล กล่าว