กรมชลประทาน ลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว เสริมความมั่นคงด้านน้ำให้กับชาวจันทบุรี

กรมชลประทาน นำทีมสื่อมวลชนลงพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ยืนยันมั่นใจแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำและอุทกภัย ให้กับชาวจันทบุรี รวมทั้งพืชสวนผลไม้เศรษฐกิจ เสริมความมั่นคงด้านแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ส่งน้ำพื้นที่เพาะปลูกได้ถึง 62,000 ไร่ หวังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืด และแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต เสริมสร้างรายได้พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชาวจันทบุรี

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 นายสิริพล รักษนาเวศ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี นับเป็นอ่างเก็บน้ำที่มีศักยภาพและสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ เพื่อส่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรและอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอ

ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดจันทบุรี ที่ผ่านมาประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทุกปี ทำให้สวนผลไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ ทุเรียน มังคุด เงาะ และสละ จากผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นเกษตรกรจึงได้ร้องขอให้มีการพัฒนาแหล่งน้ำขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ กรมชลประทานจึงดำเนินการตามแผนหลักในการพัฒนาแหล่งน้ำและศึกษาความเหมาะสมโครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ซึ่งแล้วเสร็จในปี 2538 จากการศึกษาพบว่า สามารถก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางได้ 4 แห่งประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองประแกด อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด และอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนพื้นที่ จังหวัดจันทบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งเสริมความมั่นคงด้านแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสามารถเก็บกักน้ำได้ 80.70 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สำหรับใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ให้กับประชาชนในพื้นที่ประมาณ 1,600 ครัวเรือน อีกทั้งยังช่วยส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกได้ประมาณ 62,000 ไร่ ในพื้นที่ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี และถือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืด สามารถทำการประมงเพื่อสร้างรายได้เสริม และสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังช่วยรองรับการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมได้อีกด้วย