วันที่ 2 สิงหาคม 2562 เวลา 9.30-12.00 น. คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้จัดพิธีปิดโครงการฝึกอบรมภาษาไทยระยะสั้นแบบเข้มและมอบวุฒิบัตรแก่นักศึกษาเวียดนาม โดยได้รับเกียรติจากนางสาวภัทรัตน์ หงษ์ทอง อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวให้โอวาทและมอบวุฒิบัตรแก่นักศึกษาเวียดนามที่มาเรียนภาษาไทยหลักสูตรระยะสั้นที่ เป็นเวลา 1 เดือน รวม 40 คน จาก 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามพร้อมด้วย รศ.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มศว รศ.สุภา ปานเจริญ ที่ปรึกษามหาวิทยาลัย ตลอดจน Mr.Pho Hoong Hon ท่านอุปทูตสถานเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย รวมทั้ง ผศ.ดร.สุภัค มหาวรากร หัวหน้าโครงการฯ และทีมคณาจารย์ ทีมเจ้าหน้าที่จากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ร่วมพิธีปิดโครงการท่ามกลางบรรยากาศอันอบอุ่นประทับใจแก่นักศึกษาเวียดนามอย่างมาก
Mr.Pho Hoong Hon อุปทูตฯ นางสาวภัทรัตน์ หงษ์ทอง อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวให้โอวาทแก่นักศึกษาเวียดนาม
โอกาสนี้ นางสาวภัทรัตน์ หงษ์ทอง อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวให้โอวาทแก่นักศึกษาเวียดนาม ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “วันนี้รู้สึกเป็นเกียรติและดีใจที่ได้มายืนตรงที่แห่งนี้ ที่ มศว ท่ามกลางความประทับใจที่ได้เห็นความสำเร็จของโครงการฝึกอบรมภาษาไทยระยะสั้นแบบเข้มให้แก่นักศึกษาเวียดนาม ประจำปี 2562 ซึ่งได้ดำเนินต่อเนื่องมาถึงปีที่ 20 และเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ถึงความสำเร็จของความช่วยเหลือสนับสนุนที่ TICA กระทรวงการต่างประเทศได้สนับสนุนเงินทุนแก่โครงการของ มศว ขอแสดงความชื่นชมแก่นักศึกษาเวียดนามทั้ง 40 คนจาก 4 มหาวิทยาลัยแนวหน้าของเวียดนามที่ได้สอบผ่านมาตรฐานจากการสอบคัดเลือกของ มศว ให้ได้มาเรียนภาษาไทยกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและมีคุณภาพด้านการสอนภาษาไทยแก่ชาวต่างชาติอย่าง มศว เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสเช่นนี้ ซึ่งโดยภาระหน้าที่งานของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศแล้ว คืองานพัฒนา ‘ TICA พัฒนาทั่วโลก’ การพัฒนาอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับ ‘การพัฒนาคน’ เพราะคนคือรากฐานของการพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้เจริญยั่งยืนได้”
ด้าน รศ.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มศว กล่าวแสดงความขอบคุณต่อกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ที่ได้ให้การสนับสนุนเงินทุนแก่โครงการดังกล่าวฯ ของหลักสูตรภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มศว มาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ชัดถึงผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่ทำให้มหาวิทยาลัยมีความเข้มแข็งในด้านความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยเฉพาะการสอนภาษาไทยแก่ชาวต่างชาติซึ่งเรามีความเชี่ยวชาญ “มศว ไม่เป็นสองรองใคร” เพราะทั้งจากการส่งคณาจารย์ไปสอนนักศึกษาที่เวียดนามและมีผลผลิตเป็นคนเวียดนามที่สำเร็จการเรียนภาษาไทยแล้วได้เป็นอาจารย์สอนภาษาไทยให้คนเวียดนามอีกด้วย จึงอยากย้ำความมั่นใจแก่นักศึกษาเวียดนามและทุกท่านว่า มศว เรามีความเชี่ยวชาญในหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยแก่ชาวต่างชาติอย่างชนิดที่ไม่เป็นสองรองใคร หากจะมีการสนับสนุนอื่นใดที่เกี่ยวข้องหรือเป็นความร่วมมือด้านการศึกษา วิชาการ ก็ขอให้คิดถึง มศว เป็นที่แรก”
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัค มหาวรากร หัวหน้าโครงการฝึกอบรมภาษาไทยระยะสั้นแบบเข้มแก่นักศึกษาเวียดนาม กล่าวรายงานถึงการดำเนินโครงการฯ ใจความสำคัญว่า “โครงการนี้ฯ ในปีนี้เรามีแนวคิดของโครงการฯ ว่า ’20 ปีการสอนภาษาไทยที่เวียดนาม กับ ความยั่งยืนที่มีคุณค่า’ ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 20 และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ ได้มอบทุนการศึกษาให้นักศึกษาเวียดนามที่ผ่านการสอบคัดเลือกจำนวน 40 คน จาก 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ 1. มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม นครโฮจิมินห์ (Vietnam National University Ho Chi Minh City, University of Social Sciences and Humanities) 2. มหาวิทยาลัยฮานอย (Hanoi University) 3. มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยดานัง (The University of Danang, University of Foreign Language Studies) 4. มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม กรุงฮานอย (Vietnam National University Hanoi, University of Languages and International Studies) โดย มศว เราเป็นผู้ออกข้อสอบไปให้นักศึกษาเวียดนามได้สอบและสามารถมีผู้ผ่านได้มา 40 นั้น
ในการมาเรียนภาษาไทยของนักศึกษาเวียดนามนั้น พวกเขาได้เรียนภาษาไทยมาจากเวียดนามโดยครูผู้สอนที่เป็นอาจารย์ของเราไปอยู่สอนให้และก็มีนักศึกษารุ่นก่อนๆ ที่เรียนแล้วได้เป็นครูคนเวียดนามแต่สอนภาษาไทยแก่พวกเขาด้วย 1 เดือนที่เมืองไทยนี้เราพาเข้าร่วมงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว นักศึกษาเวียดนามได้ร่วมร้องเพลง “สดุดีจอมราชา”และเพลง “สรรเสริญพระบารมี” ต่อจากนั้นได้วางพวงมาลัยถวายพระพร ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญในการเรียนรู้เรื่องพระมหากษัตริย์กับสังคมไทยกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนาที่ตรงกับวันอาสาฬหบูชา จัดโดยสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มศว เรา
นอกจากนี้ก็ยังมีวันที่ทีม TICA ทีมคณาจารย์เรา ผศ.ดร. สุภัค มหาวรากร รศ.ผกาศรี เย็นบุตร และ อาจารย์ ดร.รัชนีย์ญา กลิ่นน้ำหอม พานักศึกษาเวียดนามไปเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทยที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว นักศึกษาเวียดนามสักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมที่สำคัญในพระบรมมหาราชวัง อาทิ ปราสาทพระเทพบิดร พระศรีรัตนเจดีย์ พระมณฑป พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จิตกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ นักศึกษาเวียดนามทั้ง 40 คนเข้าชมห้องแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ ศาลาว่าการพระราชวัง ซึ่งจัดแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระองค์พานักศึกษาไปเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ชมนิทรรศการ “ราชพัสตราบรมราชาภิเษก” แสดงความรู้เกี่ยวกับสีของฉลองพระองค์และพระภูษาที่พระมหากษัตริย์ทรงในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รวมทั้งเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และเป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราช และนิทรรศการ “ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา” แสดงประวัติศาสตร์เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเยือนชวาอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2413 ทรงนำผ้าบาติกกลับมาด้วย นิทรรศการนี้แสดงวัฒนธรรมเกี่ยวกับผ้าบาติกและประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น นักศึกษาได้ทำกิจกรรมผ้าบาติก ได้แก่ การตอบคำถามเกี่ยวกับผ้าบาติก ทดลองพิมพ์ลายผ้าจากตรายางผ้าบาติกรูปแบบต่างๆ และทดลองสวมชุดจากผ้าบาติกด้วย
อีกทั้งยังพาไปทัศนศึกษาที่อุทยาน ณ สัทธา จังหวัดราชบุรี เพื่อศึกษาประวัติและผลงานของบุคคลสำคัญที่สร้างเป็นหุ่นขี้ผึ้งเสมือนจริงไว้ในพิพิธภัณฑ์ นักศึกษาเวียดนามได้ชมแหล่งท่องเที่ยววิถีไทยตามแนวพุทธศาสนา เยี่ยมชมบ้านจำลองของแต่ละภูมิภาค ชมการแสดงพื้นบ้านไทย ชมการนำเสนอวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย และทดลองวาดลวดลายของโอ่งอันเป็นของขึ้นชื่อของจังหวัดราชบุรี
พาไปทัศนศึกษาที่โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อศึกษาการกำจัดขยะ การบำบัดน้ำเสีย ตลอดจนระบบนิเวศป่าชายเลน ต่อจากนั้นไปอุทยานราชภักดิ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งสร้างขึ้นด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์เพื่อเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณของพระมหากษัตริย์ไทย เรียนรู้เรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์กับการสร้างความมั่นคงให้สังคมไทย” ณ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ จากนั้นในช่วงเย็นนักศึกษาเวียดนามเข้าร่วมพิธีจุดเทียนถวายพระพร เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ท้องสนามหลวง ประสบการณ์ครั้งนี้นับเป็นโอกาสพิเศษที่นักศึกษาเวียดนามได้เรียนรู้เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย การเรียนรู้ครั้งนี้มีคณาจารย์ ได้แก่ ผศ.ดร.สุภัค มหาวรากร ผศ.ดร.ภาณุพงศ์ อุดมศิลป์ รศ.ดร.ดวงเด่น บุญปก และ ผศ.ดร.นิธิอร พรอำไพสกุล ช่วยสร้างประสบการณ์จริงให้แก่นักศึกษา
ดิฉันขอขอบคุณกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ไทยพีบีเอส และรายการ TICA พัฒนาทั่วโลก ที่ติดตามการทำกิจกรรมการเรียนรู้ของนักศึกษาในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด แม้แดดจะร้อนและต้องใช้เวลาตลอดทั้งวัน…ภาพที่เห็นแสดงถึงความตั้งใจและความพยายามของนักศึกษาเวียดนามและทีมงาน TICA ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความสามัคคี ทั้งนี้การเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้นักศึกษาเวียดนามทั้ง 40 คน ได้รับทุนจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (TICA) ให้มาอบรมภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ”
นอกจากนี้ตัวแทนนักศึกษาเวียดนาม 2 คน ชายและหญิง ได้กล่าวแสดงความรู้สึกความประทับใจในด้วยการพูดภาษาไทยที่ชัดถ้อยชัดคำและใช้ภาษาไทยได้ดีถูกต้องอีกด้วย ในเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาในการเข้าร่วมโครงการฯ โดยนักศึกษาหญิงตัวแทน กล่าวว่าตนเองประสบอุบัติเหตุสะดุดล้มตกบันได้ของโรงแรมในวันแรกที่มาถึงเมืองไทย ความรู้สึกแรกคือความเจ็บปวดจากการบาดเจ็บ แต่ความรู้สึกที่มากกว่าการบาดเจ็บทางกายคือความรู้สึกเจ็บปวดทางใจว่าตนเองจะกลายเป็นภาระของเพื่อนๆ และถ่วงเวลาของทุกคนและไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเพื่อนๆ ด้วย “ตอนนั้นหนูก็ยังไม่มีเงินแต่อาจารย์สุภัคก็ได้ช่วยจัดการพาส่งโรงพยาบาลและหนูก็ต้องเย็บแผลที่เข่า ตอนนี้ก็ยังเดินไม่ได้ดี ถ้าเดินมาแผลก็จะไม่หาย หนูได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากการบาดเจ็บครั้งนี้ ได้ทำอะไรๆ ต่างๆ ได้ด้วยตนเอง แต่ก็มีบางอย่างที่ทำไปกับเพื่อนๆ ไม่ได้เช่นการขี่จักรยาน แต่ก็มีอาจารย์มาคอยเอาใจใส่มากๆ ให้ความรู้และคอยอธิบายให้ฟัง ทำให้หนูได้รู้ได้เห็นสิ่งที่เป็นความน่าประทับใจ น่าสนใจและรักคนไทย อาจารย์เอาใจใส่พวกหนูมากๆ พาไปเรียนรู้ตามที่ต่างๆ ที่ดี เช่น ฟาร์มโคนมต้นแบบพระราชทาน โครงการชั่งหัวมัน ไปพิพิธภัณฑ์ที่ดีมีชื่อเสียงของไทย สิ่งต่างๆ เหล่านี้หนูจะเก็บเป็นความประทับใจและนำไปบอกเล่าแก่คนเวียดนามค่ะ หนูขอขอบคุณอาจารย์ทุกท่าน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและกรมความร่วมมือระหว่างประเทศที่ทำให้หนูได้มีประสบการณ์ชีวิตที่ล้ำค่านี้มากๆ ในชีวิตที่จะไม่มีวันลืมเลยค่ะ”
ในโอกาสนี้ยังได้รับเกียรติจากอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้เสียสละเวลากล่าวให้โอวาท ร่วมแสดงความยินดีและมอบเกียรติบัตรแก่นักศึกษาเวียดนามทั้ง 40 คน เพื่อเป็นขวัญและสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาเวียดนามเหล่านี้ได้กลับไปทำหน้าที่ของความเป็น “ยุวทูต” ไทยกับเวียดนามในทุกด้านโดยผ่านภาษาไทยและความรักผูกพันต่อประเทศไทย ในอันที่จะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความผาสุกร่วมกันในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชีย-อาเซียนของเราสืบต่อไป