เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มอบหมายให้นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 3/2566 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กล่าวว่า วันนี้เป็นการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายด้านสุขภาพผู้เรียนและผู้สอนของหน่วยงานในสังกัด ทั้งทิศทางการทำงานที่ผ่านมา และการนำเสนอโครงการใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งอยากให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง รวมถึงเน้นย้ำเกี่ยวกับมาตรการในการติดตามประเมินผล ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ หากการดำเนินการเป็นไปในทิศทางที่ดีให้ทำอย่างต่อเนื่อง แต่หากเกิดปัญหาให้นำมาปรับรูปแบบและวิธีการ พร้อมรีบแจ้งไปยังฝ่ายนโยบายและแผน เพื่อจะได้จัดการในส่วนของการจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ. 2568 ล่วงหน้า ตลอดจนขอชื่นชมชุดรูปภาพสวัสดีตอนเช้าที่ สพฐ.ดำเนินการจัดทำเผยแพร่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ ถือเป็นเรื่องเชิงรุกที่สร้างสรรค์และได้รับความสนใจ ขอให้พัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป
สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ที่ที่จะถึงนี้ ศธ.จะจัดแถลงข่าวผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มอบแทนของขวัญในเดือนแห่งความรักสู่ครูและนักเรียน เป็นรางวัลให้กับประชาชน โดยแต่ละหน่วยงานรวบรวม 14 ความสุขให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้สื่อมวลชนนำไปเผยแพร่อย่างทั่วถึง โดยจะนำแผนงานส่งความสุขของแต่ละหน่วยงาน เสนอต่อ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพิจารณา และจะจัดแถลงข่าวส่งความสุขของกระทรวงศึกษาธิการ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ต่อไป
สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินการด้านนโยบายของกระทรวงทรวงศึกษาธิการ มีดังนี้
– สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ร่วมกับกรมสุขภาพจิต เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยจัดอบรมออนไลน์กับคุณครูโรงเรียนเอกชน 1,292 คน จาก 580 โรงเรียนทั่วประเทศ มีการให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาและสถานการณ์เกี่ยวกับสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ซึ่งได้ปีนี้ได้กำหนดการอบรมแบบเข้มข้นกับโรงเรียนเอกชน 13 จุด โดยเริ่มจาก กทม. เป็นที่แรก มีการทำระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่ ใช้แบบคัดกรองปัญหา ปรับพฤติกรรมและให้คำปรึกษา แล้วขยายการอบรมเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงในส่วนภูมิภาคต่อไป
– สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินโครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาร่วมกับกรมสุขภาพจิต จัดทำหลักสูตรพัฒนานักจิตวิทยา ทั้ง 245 เขต เพื่อทำหน้าที่นักจิตวิทยาประจำโรงเรียน สร้างทักษะที่จำเป็นในพื้นที่โดยใช้เครือข่ายให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในการทำงาน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือให้เด็ก ครู และบุคลากรทางการศึกษามีความปลอดภัย ซึ่งมีทีมในระดับเขตพื้นที่สามารถช่วยเหลือแก้ไขสถานการณ์ได้ รวมถึงขับเคลื่อนการส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม อบรมพัฒนาศักยภาพครูอนามัยและครูแนะแนวที่ดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเฉพาะความพิการ และมีการจัดประกวดสื่อสุขภาพจิตเชิงสร้างสรรค์ สร้างสังคมการเรียนรู้ในโรงเรียน ลดภาวะความเครียดและความซึมเศร้าในโรงเรียนได้
– สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำเนินการจัดทำข้อมูลสื่อสารสนเทศที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้เรียน พร้อมขับเคลื่อนโครงการ 1 วิทยาลัย 1 ครูอนามัยอย่างต่อเนื่อง มีระบบการคัดกรองผู้เรียนและบุคลากรด้านสุขภาพจิต ให้ได้รับความรู้และการดูแลช่วยเหลือเป็นหลัก รวมถึงส่งเสริมผู้เรียนที่มีหน้าที่ช่วยครูอนามัย โดยยึดหลักเพื่อนช่วยเพื่อนให้มีความรู้ด้านจิตวิทยา ซึ่งได้ประสานกับสถานพยาบาลทั่วประเทศ รวมถึงกรมอนามัย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผู้ปกครอง ที่สามารถสนับสนุนการทำงานด้านเสริมสร้างสุขภาพของผู้เรียนร่วมกันได้
– กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ดำเนินการจัดทำศูนย์แนะแนว 928 แห่ง มีการตรวจสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาด้านอาชีพ ทักษะชีวิต โดยมีนักศึกษาและประชาชนเป็นเป้าหมาย ซึ่งได้หารือและตั้งคณะทำงานเรียบร้อยแล้ว