กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เผยสินค้าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ biodiversity กำลังจะเข้ามาแทนที่สินค้า organic เหตุช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับระบบอาหารของโลก จากการทำให้ระบบอาหารมีความหลากหลาย ลดการคุกคามสิ่งแวดล้อม และสร้างโอกาสให้เกิดนวัตกรรมอาหารในกลุ่มซุปเปอร์ฟู้ด
นางขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้บุคคลที่อยู่ในวงการอาหารของสหรัฐอเมริกา และทั่วโลก ทั้งเกษตรกร นักธุรกิจ นักคิดค้นสินค้าใหม่ๆ เริ่มมีความเชื่อว่าอาหารอินทรีย์อย่างเดียงไม่เพียงพอที่จะสร้างความยั่งยืนให้แก่ระบบอาหารของโลก จึงต้องมีการพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ biodiversity ซึ่งเป็นการเข้าถึงระบบการเกษตรและการเผลิตอาหารที่เป็นแบบครบถ้วนบริบูรณ์ (holistic) และมีความยั่งยืน (Sustainability) มากกว่าระบบอินทรีย์ (organic)
“แนวคิด biodiversity กำลังมาแรงในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก โดยมีแรงกระตุ้นจากรายงานขององค์กรอาหารและเกษตรของโลกที่ระบุว่า ร้อยละ 72 ของอาหารโลกมาจากพืช 12 สายพันธุ์ และสัตว์
5 สายพันธุ์เท่านั้น ซึ่งหมายถึงว่าระบบอาหารในปัจจุบันของมนุษย์กำลังเป็นอันตรายต่อพืชและสัตว์และต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิตพืชและสัตว์เหล่านั้น แต่ biodiversity หมายถึงจำนวนพืชและสัตว์ที่หลากหลายสายพันธุ์มากยิ่งขึ้นจะถูกนำมาใช้เป็นอาหารและจะทำให้ระบบอาหารมีความหลากหลายมากขึ้น ลดการคุกคามสิ่งแวดล้อม และ biodiversity ยังสร้างโอกาสให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมอาหารหลายรายการในกลุ่มซุปเปอร์ฟู้ดด้วย”
ทั้งนี้ biodiversity เป็นการเน้นการเข้าถึงที่ครบถ้วนบริบูรณ์ในการปลูก การผลิต และการพัฒนาอาหารจากฟาร์มสู่ร้านค้า มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบอาหารที่สามารถฟื้นกลับคืนสภาพเดิมได้ และมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดย biodiversity จำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมด้านการเกษตรที่เป็นระบบเกษตรกรรมแบบฟื้นฟู ที่เป็นการทำการเกษตรในสิ่งแวดล้อมที่ถูกควบคุมหรือการเกษตรใน greenhouse หรือห้องปลูกพืช และที่เป็นระบบเกษตรกรรมแบบที่มีความแม่นยำสูง
นางขวัญนภากล่าวว่า ปัจจุบันมีสัญญาณบ่งบอกว่าการบริโภคอาหารอินทรีย์ในสหรัฐอเมริกา กำลังเริ่มอิ่มตัว แม้ว่าจะยังมีการเติบโต แต่ไม่เข้มแข็งเหมือนในอดีต ผู้บริโภคจำนวนเพิ่มมากขึ้นไม่ได้สนใจประกาศนียบัตรแสดงการเป็นอินทรีย์ของสินค้า แต่ให้ความสนใจต่อระบบ traceability ที่สามารถตรวจสอบการผลิตได้ถึงต้นทาง รวมถึงความโปร่งใสของมาตรฐานและระบบกำกับติดตาม และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่ระบุว่าให้ความสำคัญกับอาหารที่ผลิต ปลูกในพื้นที่มากที่สุด และต้องการมากขึ้นเกี่ยวกับผู้ผลิต และกรรมวิธีการผลิตและปลูก
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเปิดตัว biodiversity อย่างเป็นทางการครั้งแรกในตลาดสหรัฐอเมริกา ที่คูหา What’s Next in Food ในงาน Winter Fancy Food Show ที่จัดขึ้นในนครซานฟานซิสโก เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนของอาหาร โดยมีบริษัทธุรกิจ biodiversity เข้าร่วมแสดงสินค้า 14 บริษัท เช่น บริษัท Lumen ที่มีฐานอยู่ในเมือง Oakland รัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้ปลูกกัญชา และนำไปผลิตเครื่องดื่มทำจากกัญชาที่เป็นแบบ Cold-pressed เป็นต้น
สำหรับการเกิดขึ้นของ biodiversity คือ หัวใจของอาหารและอุตสาหกรรมอาหาร ที่อาจพัฒนาเป็นอาหารอินทรีย์แบบใหม่ที่อยู่บนหลักการของความครบถ้วนบริบูรณ์มากกว่าอาหารอินทรีย์ทั่วไป โดยหนึ่งในผู้นำระบบ biodiversity ในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน คือ บริษัท The Future Market และบริษัท Food+Tech Connect ที่มีฐานอยู่ในนครนิวยอร์ก
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา โทร 001-1-323 466-9645 หรือกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169
******************************************************
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ