องค์กรพุทธ-สาธารณสุข ร่วมปวารณาสานพลังการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ หนุนนโยบายสถานชีวาภิบาลโดยองค์กรพระพุทธศาสนา

องค์กรพระพุทธศาสนาจับมือองค์กรเครือข่ายด้านสาธารณสุข ปวารณาสานพลังการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ “ธรรมมรรคาสู่ระบบสุขภาพที่สมดุล” สู่เป้าหมายให้พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย และยกระดับพระสงฆ์เป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม พร้อมหนุนนโยบายรัฐบาล “การขับเคลื่อนสถานชีวาภิบาลโดยองค์กรพระพุทธศาสนา”

องค์กรพระพุทธศาสนา ร่วมกับหน่วยงาน/องค์กรด้านสาธารณสุข จัดงานปวารณาสานพลังการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2566 “ธรรมมรรคาสู่ระบบสุขภาพที่สมดุล” ณ พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรรมการมหาเถรสมาคม และประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม เป็นองค์ประธานในพิธี และมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวนำการปวารณาฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 14 องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันบรมราชชนก กรมอนามัย กรมการแพทย์ กรมการศาสนา แพทยสภา สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และเครือข่ายพระสงฆ์สาธารณสงเคราะห์

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฝ่ายคฤหัสถ์ กล่าวที่มาการขับเคลื่อนสุขภาวะพระสงฆ์ว่า โดยช่วงปี 2555 เป็นปีที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้มีฉันทมติในการพัฒนาประเด็นนโยบายสาธารณะเรื่องพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ ซึ่งขณะนั้นพระสงฆ์มีความเสี่ยงอาพาธจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจากของขบฉันและภัตตาหาร รวมถึงปัญหาการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล และฐานข้อมูลพระสงฆ์ที่ยังไม่มีการเชื่อมโยงสิทธิประโยชน์ มติดังกล่าวทำให้เกิดการสร้างความร่วมมือระหว่างวัดและชุมชนในระดับพื้นที่มากมาย

ต่อมาในปี 2560 ได้มีการพัฒนาธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติขึ้นมา โดยมีกรอบแนวทางการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ 1.พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย 2.ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย และ 3.บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้าน

สุขภาวะของชุมชนและสังคม จากนั้นมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติขึ้น โดยมีผู้แทนคณะสงฆ์ ผู้แทนหน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ โดยมีเป้าหมายให้พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข ผ่านโครงการ/กิจกรรมของแต่ละหน่วยงาน และในปี 2567 นี้ การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติยังคงมุ่งเน้นการใช้ทางธรรมนำทางโลก และต้องกราบนมัสการขอบพระคุณ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ที่มีเมตตาและดำริในการจัดงานปวารณาในครั้งนี้ เพื่อแสดงถึงกุศลเจตนาของชาวพุทธ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ในการถวายการอุปัฏฐากและดูแลสุขภาพพระสงฆ์อย่างถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย รวมถึงการได้รับเมตตาจากพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะให้กับชุมชนและสังคมต่อไป

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนของหน่วยงาน องค์กรและเครือข่ายในวันนี้ ขอปวารณาการสานพลังขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ทั่วประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมและสนับสนุนการดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สมบูรณ์ทั้งทางกาย จิต ปัญญาและทางสังคม ตลอดจนการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ เชื่อมโยงระหว่างวัดและชุมชน มุ่งให้เกิด “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และสืบทอดพระพุทธศาสนาในประเทศไทยในฐานะที่เป็นศาสนาหลักของประชาชนคนไทยให้มั่นคงสืบต่อไป

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์แบบบูรณาการ ตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาได้เกิดผลเชิงรูปธรรมแล้ว อาทิ มีพระภิกษุสงฆ์และสามเณร ได้รับการตรวจสอบสิทธิเพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุขแล้ว จำนวน 164,004 รูป  มีพระภิกษุและสามเณรได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพ จำนวน 81,542 รูป มีการเชื่อมโยงวัดกับหน่วยบริการจำนวน 9,622 แห่ง มีพระคิลานุปัฏฐากที่ผ่านการอบรม จำนวน 13,200 รูป มีวัดส่งเสริมสุขภาพที่ผ่านเกณฑ์การประเมินแล้ว จำนวน 18,174 แห่ง และมีวัดร่วมพัฒนาชุมชนคุณธรรม จำนวน 4,911 แห่ง ตลอดจนมีการผลิตสื่อทำความเข้าใจต่าง ๆ เช่น คู่มือแนวทางการอบรมหลักสูตรพระคิลานุปัฏฐาก สื่อสงฆ์ไทยไกลโรค ฯลฯ

ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนสำคัญในปี 2567 จะมีการผลักดันงานฐานข้อมูลสุขภาพพระสงฆ์เพื่อยกระดับด้านการเข้าถึงสิทธิการดูแลสุขภาพและเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขของพระสงฆ์ และการขับเคลื่อนงานกุฏิชีวาภิบาลและสถานชีวาภิบาลในการถวายการดูแลพระสงฆ์อาพาธ และการดูแลระยะท้าย และจัดทำมาตรฐานการจัดบริการของสถานชีวาภิบาลสำหรับองค์กรพระพุทธศาสนา รวมถึงการขึ้นทะเบียนวัดที่จัดบริการดูแลพระสงฆ์อาพาธ/ผู้ป่วย เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อที่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้

ด้าน นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด กล่าวว่า ในปี 2567 นี้นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่ง ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา จึงทำให้เกิดความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายสุขภาพเพื่อสานพลังในการขับเคลื่อนงานผ่านโครงการต่างๆ ที่มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคี ภายใต้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เช่น โครงการส่งเสริมพระคิลานุปัฏฐาก เพื่อพัฒนาอาสาสมัครผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลพระสงฆ์อาพาธ การขับเคลื่อนการจัดทำสมาร์ทการ์ดของพระภิกษุและสามเณร โดยการจัดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลพระภิกษุและสามเณร เพื่อให้พระภิกษุและสามเณรได้รับการบริการสาธารณสุขและสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โครงการสังฆาภิบาลเพื่อพระสงฆ์อาพาธ ส่งเสริมวัดให้มีอาคาร สถานที่ในการสังฆาภิบาลดูแลพระสงฆ์อาพาธ โครงการส่งเสริมพระคิลานธรรม พระสงฆ์จิตอาสาที่ทำงานด้านการเยียวยาความสูญเสีย และดูแลจิตใจผู้ป่วยและญาติ ทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน และโครงการพระบริบาลภิกษุไข้ เพื่อพัฒนาพระภิกษุสงฆ์เพื่อให้มีองค์ความรู้และทักษะในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และทักษะในการบริบาลพระภิกษุไข้ เป็นต้น

“การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการร่วมกันทำความดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 หน่วยงานภาคีเครือข่ายจึงขอปวารณาสานพลังการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ และจะขับเคลื่อนงานอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสืบไป” นางพวงเพ็ชร กล่าว

นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 ในประเด็นพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ โดยเป็นหนึ่งในเครื่องมือตามพรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่มุ่งให้พระสงฆ์มีสุขภาพที่ดี รวมถึงการส่งเสริมให้พระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้นำของชุมชนและสังคมไทยได้เมตตาปฏิบัติศาสนกิจและบทบาทการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะให้กับสังคมไทย การร่วมปวารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงการสานพลังอย่างแท้จริงในการร่วมมือที่ไม่ใช่เพียงภาครัฐอย่างเดียว แต่ทุกภาคส่วนก็มีส่วนสำคัญในการสร้างระบบสุขภาพได้อย่างสมดุล โดยมีคณะสงฆ์ และวัดเป็นศูนย์กลาง

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. สนับสนุนการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พระสงฆ์มีสุขภาพที่ดีและก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านสุขภาวะให้กับชุมชนในพื้นที่ ซึ่งล่าสุด สปสช. ได้มีการกําหนดหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานหรือองค์กรที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง บริการดูแลแบบประคับประคองและระยะท้ายเป็นสถานบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งจะทำให้วัด สามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการด้านชีวาภิบาล เพื่อให้การดูแลภิกษุหรือญาติโยมที่ป่วยระยะสุดท้ายได้ อันจะเป็นการส่งเสริมบทบาทของพระสงฆ์การเป็นผู้นำด้านสุขภาวะในชุมชนตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างแท้จริง