นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า นโยบายของนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่ากระทรวงวัฒนธรรม มุ่งขับเคลื่อน Soft Power โดยเฉพาะด้านเฟสติวัล-เทศกาลประเพณีและด้านท่องเที่ยวเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล และเป้าหมายของกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)ในการส่งเสริมคุณค่าและมูลค่าเทศกาลประเพณีของชาติและเทศกาลอื่นๆ ด้านวัฒนธรรม เพื่อให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สร้างงานสร้างรายได้สู่ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยในเวทีนานาชาติ ดังนั้น วธ. จึงมุ่งส่งเสริมเทศกาลประเพณีของไทยเพื่อยกระดับสู่ระดับนานาชาติ โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เพื่อดำเนินการคัดเลือกเทศกาลประเพณีที่มีศักยภาพและมีความโดดเด่นในการยกระดับให้เป็นเทศกาลประเพณีในระดับชาติและนานาชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเผยแพร่ประเพณีศิลปวัฒนธรรมไทยไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตามนโยบายของ วธ.
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ล่าสุด วธ.ได้ดำเนินการคัดเลือกเสร็จแล้ว และประกาศผลการคัดเลือกเทศกาลประเพณีเพื่อยกระดับไปสู่ระดับชาติและนานาชาติของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 6 เทศกาล/ประเพณี ดังนี้ 1.เทศกาลร่มบ่อสร้างและหัตถกรรมสันกำแพง จ.เชียงใหม่ 2.ประเพณีกำฟ้าไทยพวน จ.แพร่ 3.มหกรรมวัฒนธรรมสานสัมพันธ์อิ้วเมี่ยนโลก จ.พะเยา 4.เทศกาลลานตาลันตา 5.งานวิสาขปุรณมีบูชา สักการะมหาสถูปเจดีย์เขาคลังนอก จ.เพชรบูรณ์ และ6.ประเพณีบุญกระธูปออกพรรษา จ.ชัยภูมิ ซึ่ง วธ.โดยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมจะดำเนินการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนำไปบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชนและเครือข่ายวัฒนธรรมในการจัดกิจกรรมส่งเสริม 6 เทศกาลประเพณีนี้เพื่อยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ ทำให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางทั้งในไทยและต่างประเทศ
นางยุพา กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาในปีงบประมาณ 2566 วธ.ได้คัดเลือกและดำเนินการยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ จำนวน 16 เทศกาลประเพณี อาทิ ประเพณีกตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จังหวัดปัตตานี , เทศกาลมรดกโลกบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ,ประเพณีหกเป็งนมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง จังหวัดน่าน , ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก “มาฆบูชา อารยธรรมอีสาน” จ.ยโสธร , เทศกาลตามรอยอารยธรรมขอมโบราณ ปราสาทศิลา “สด๊กก๊อกธม” จ.สระแก้ว , ประเพณีตักบาตรดอกไม้เข้าพรรษา จ.สระบุรี , ประเพณีบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช เลาะตลาดคนเมืองไทนคร จ.นครพนม และเทศกาลโคมแสนดวงที่เมืองลำพูน จ.ลำพูน ซึ่ง วธ. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และเครือข่ายด้านวัฒนธรรมส่งเสริมการยกระดับเทศกาลประเพณีที่ได้รับคัดเลือกทั้งในปีงบประมาณ 2566 และปีงบประมาณ 2567 รวมแล้วมี 22 เทศกาลประเพณี ให้เป็นเทศกาลประเพณีระดับชาติและนานาชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวสัมผัสกับวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น สร้างงานสร้างรายได้สู่ชุมชนและประเทศ