วันที่ 2 มกราคม 2567 เวลา 09.00 น. นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง พร้อมด้วย นายเกียรติศักดิ์ อมรประเสริฐสุข ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมการผังเมือง นายธนารักษ์ วรปรีชาพันธุ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครนายก นายสุมล เกียงแก้ว วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ นายอุดม จิตตวงค์ ผู้อำนวยการกองผังเมืองเฉพาะ และเจ้าหน้าที่สำนัก/กองที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมการออกแบบโครงการอารยเกษตร พื้นที่วัดระฆัง 150 ไร่ คลอง 15 อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตร “ทฤษฎีใหม่” โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร นายสุภกิณห์ แวงชิน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ร่วมประชุม ณ ห้อง War room อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย
โดยกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการสำรวจออกแบบ โครงการอารยเกษตร พื้นที่วัดระฆัง 150 ไร่ คลอง 15 อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตร”ทฤษฎีใหม่” เป็นแนวทางหรือหลักในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีแผนดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (แก้มลิง) แบบอารยเกษตร 6 พื้นที่ (ภาคตะวันตก – จังหวัดกาญจนบุรี, ภาคเหนือ – จังหวัดพะเยา, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ – จังหวัดอุบลราชธานี, ภาคกลาง – จังหวัดนครนายก, ภาคตะวันออก – จังหวัดจันทบุรี และภาคใต้ – จังหวัดสตูล) เป็นการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ดินสาธารณะประโยชน์ของรัฐ มาดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ บูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนตามพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “สืบสาน รักษา และต่อยอด” เป็นที่รองรับและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม – น้ำแล้ง และเป็นพื้นที่การเรียนรู้และประยุกต์นำไปใช้ในการประกอบอาชีพ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567
ทั้งนี้ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้นำเสนอข้อมูลการลงสำรวจพื้นที่เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบทางด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม การออกแบบผังบริเวณ และผลสำรวจภูมิประเทศ โดยจะนำข้อมูลดังกล่าวจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การออกแบบพื้นที่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (แก้มลิง) แบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ระหว่างวันที่ 5 – 8 มกราคม 2567 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก จังหวัดนครนายก เพื่อให้การดำเนินโครงการใน 6 พื้นที่ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์