กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำ 7 ท่า การนวดตนเอง ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยระหว่างการเดินทางไกล ช่วงหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ 2567
นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำ 7 ท่า การนวดตนเอง ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย ช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยล้าและปวดเมื่อย โดยเฉพาะอาการปวดเมื่อยบริเวณกล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล และ แขน ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยจากการนั่งรถเป็นเวลานาน ๆ บางรายมีอาการปวดล้าบริเวณกระบอกตา คลื่นไส้ อาเจียน อีกด้วย
สำหรับ ท่านใดมีอาการดังกล่าว อยากแนะนำ 7 ท่านวดตนเอง ที่สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย ระหว่างการเดินทางได้ด้วยการนวดตนเอง ดังนี้ ท่าที่ 1 ใช้นิ้วหัวแม่มือนวดบริเวณข้อมือด้านในและด้านนอก จะช่วย คลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบ ๆ ข้อมือ ท่าที่ 2 เหยียดแขนตรงไปด้านหน้าพร้อมกับใช้มือดัดปลายนิ้วมือในลักษณะคว่ำมือและหงายมือตามลำดับจะช่วยยืดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของแขน ท่าที่ 3 ใช้นิ้วมือนิ้วชี้นิ้วกลางนิ้วนางกดนวดจากแนวกล้ามเนื้อบ่าและแนวกล้ามเนื้อต้นคอสิ้นสุดที่ฐานกะโหลกศีรษะท่านี้จะช่วยคลายกล้ามเนื้อบ่า ต้นคอทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณศีรษะเพิ่มมากขึ้น ท่าที่ 1,2 และ3 ให้ทำสลับทั้งข้างซ้ายและข้างขวา ท่าที่ 4 นำมือทั้งสองข้างประสานไว้ที่ท้ายทอยแล้วใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างกดนวดตามแนวกล้ามเนื้อต้นคอทั้งสองข้างพร้อมกันโดยกดนวดตั้งแต่ฐานคอขึ้นไปสิ้นสุดที่ฐานกะโหลกศีรษะ ท่านี้จะช่วยบรรเทาอาการตาพร่ามัวได้ ท่าที่ 5 ใช้นิ้วมือทั้งสองข้างนวดคลึงให้ทั่วศีรษะคล้ายการสระผมท่านี้จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดรอบ ๆ ศีรษะช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ และท่าที่ 6,7 เป็นท่าที่สามารถทำได้ขณะจอดแวะพัก ท่าที่ 6 เป็นท่ากายบริหารฤๅษีดัดตนแก้เกียจ โดยประสานมือไว้บริเวณหน้าอกดัดยืดแขนออกไปทางด้านซ้ายหน้ามองตรง ดัดออกไปทางด้านขวา ดันดออกไปทางด้านหน้า และดัดวาดแขนยืดไปด้านบน พร้อมกับโน้มเอียงตัวไปด้านซ้ายและขวาท่านี้เป็นการยืดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า ไหล่ แขน หลัง หน้าอก และชายโครง และ ท่าที่ 7 หมุนข้อไหล่โดยยกแขนหมุนไปด้านหลัง ซ้ายและขวาโดยทำทีละข้าง 5 – 10 ครั้ง จะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณข้อไหล่ บ่า หน้าอก และสะบัก คลายตัวทำให้บริเวณดังกล่าวเลือดลมไหลเวียนได้ดีขึ้น
นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับท่านใด้ที่ต้องเดินทางไกลช่วงหน้าเทศกาล ควรพักผ่อน ให้เพียงพอ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอล์ฮล และควรตรวจสภาพรถให้พร้อมกับการเดินทาง หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับศาสตร์การแพทย์แผนไทย หรือการใช้ยาสมุนไพร สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์แผนไทย ในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ หรือติดต่อโดยตรงที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือ ช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/dtam.moph และ ไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกline @DTAM