กรมส่งเสริมการเกษตรเดินหน้า “โครงการพะเยาโมเดล” สู่การพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตร นำร่องสร้างมูลค่าเพิ่ม 6 ชนิด ลิ้นจี่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว สมุนไพร มันสำปะหลัง และกาแฟ

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากนโยบายกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ในการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคการเกษตร ภายใต้หลัก ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ส่งเสริมการเกษตรมูลค่าสูงและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้เลือกจังหวัดที่ควรเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการผลิตสินค้าให้กับเกษตรกร และนำร่องเป็นต้นแบบในการผลิตสินค้าเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัด พบว่าจังหวัดพะเยามีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดในปี 2563 ตามราคาประจำปี 35,439 ล้านบาท มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดเฉลี่ยต่อหัว 95,197 บาท อยู่ในลำดับที่ 9 ของจังหวัดในภาคเหนือ และลำดับที่ 49 ของประเทศ ซึ่งสาขาการผลิตที่มีมูลค่าสูงสุด ได้แก่ สาขาเกษตรกรรม การล่าสัตว์ และการป่าไม้ มีมูลค่า 10,694 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30.17 ถือได้ว่าภาคการเกษตรมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และปัจจุบันพื้นที่การเกษตรของจังหวัดพะเยานั้นมีจำนวนทั้งสิ้น 1.503 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 37.98 ของพื้นที่ทั้งหมด แต่กลับพบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบสูงและภูเขา ทำให้เกษตรกรประสบกับปัญหาและข้อจำกัดต่าง ๆ ในการผลิตสินค้าเกษตร เหมาะแก่การพัฒนาเพิ่มศักยภาพของเกษตรกร เพื่อให้มีความรู้ ทักษะ สามารถใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สามารถบริหารจัดการด้านการผลิตได้

“กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ดำเนินการนำร่องในสินค้าเกษตรสำคัญที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม 6 ชนิด ได้แก่ ลิ้นจี่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว สมุนไพรมันสำปะหลัง และกาแฟ นำร่องใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่ใจ อำเภอปง และอำเภอดอกคำใต้ โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่ที่เหมาะสม ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็ง รวมถึงเชื่อมโยงไปถึงผู้ประกอบการภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร การส่งเสริมการผลิตสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาการผลิต เพื่อยกระดับการรับรองตามมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ส่งเสริมการใช้พืชพันธุ์ดี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ภายใต้โครงการพะเยาโมเดลสู่การพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตร ปี 2567” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

สำหรับการดำเนินการส่งเสริมสินค้าเกษตรทั้ง 6 ชนิดสินค้านั้น กรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านสินค้าต่าง ๆ ดังนี้ 1) ลิ้นจี่ เน้นส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าลิ้นจี่ที่มีคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม (AA) ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และรวมกลุ่มกันผลิตและจำหน่ายเพื่อให้เกิดอำนาจในการต่อรองราคามากขึ้น พัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าลิ้นจี่ที่มีคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม (AA) ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่โดดเด่นของลิ้นจี่แม่ใจ เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ สร้างค่านิยมและผลักดันทายาทเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตและจำหน่ายลิ้นจี่ สร้างความหวงแหนและเห็นคุณค่าของลิ้นจี่ฮงฮวย ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ที่มีชื่อเสียง มีคุณภาพ และมีอัตลักษณ์อันดับต้น ๆ ของประเทศ 2) สมุนไพร (ฟ้าทลายโจร ขมิ้นชัน) วางแผนการผลิตสินค้าสมุนไพรร่วมกับโรงพยาบาลแม่ใจ ส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่การผลิตและสร้างเครือข่ายเพื่อให้ผลผลิตเพียงพอกับความต้องการของโรงพยาบาลแม่ใจ สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกสมุนไพรพันธุ์ดี มีปริมาณสารสกัดหรือสารออกฤทธิ์สำคัญสูงตามมาตรฐานความต้องการของโรงพยาบาลแม่ใจ และส่งเสริมการแปรรูปอย่างง่าย 3) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งเสริมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพได้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากกว่า 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ และมีคุณภาพเมล็ด ระดับความชื้นและไม่มีอะฟลาทอกซินเพื่อให้สามารถเพิ่มอำนาจการต่อรองด้านราคาขายกับผู้ประกอบการ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีหมุนเวียน ซึ่งนำไปสู่การเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานชีวมวลที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดที่ให้พลังงานสูง เพื่อลดการเผาซังข้าวโพด และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก  ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรเชื่อมโยงตลาดระหว่างกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่กับผู้ประกอบการ ในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา 4) ถั่วเขียว ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกถั่วเขียวพันธุ์ KUML ซึ่งเป็นพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูง ทนต่อโรคราแป้ง วางแผนการผลิตถั่วเขียวให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยเครื่องจักรกลในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน อีกทั้งการปลูกถั่วหลังนาจะลดการเผาตอซังข้าว เพิ่มอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารบำรุงดิน ซึ่งจะส่งผลให้ประหยัดต้นทุนปุ๋ยในรอบการผลิตต่อไป ส่วนด้านการตลาดถั่วเขียวจะเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานสินค้า/ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงกลุ่มอาหารเสริมโปรตีนร่วมกับผู้ประกอบการ 5) มันสำปะหลัง ส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อาทิ สร้างแปลงขยายพันธุ์ทนทานต่อโรคใบด่างมันสำปะหลังไว้ใช้เป็นแหล่งพันธุ์ในพื้นที่ จำนวน 10 ไร่ และยกระดับผลผลิตให้เข้าใกล้ศักยภาพสายพันธุ์ (Yield Potential) ออกแบบแปลงและวางแผนการผลิตจนถึงเก็บเกี่ยว เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลสมัยใหม่ ในรูปแบบแปลงใหญ่ ซึ่งจะสามารถบริหารต้นทุนและเกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน  นอกจากนั้นจะเตรียมความพร้อมสู่การรับรองมาตรฐานอินทรีย์ เพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงทดแทนแป้งสาลีในอุตสาหกรรมเบเกอรี่ และ 6) กาแฟ ผลิตกาแฟตามมาตรฐาน GAP ตรวจสอบปริมาณสารกาแฟและคุณภาพทางห้องปฏิบัติการเพื่อนำไปพัฒนาและยกระดับคุณภาพกาแฟ ตรวจวิเคราะห์และใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การตัดแต่งต้นกาแฟ (ทำสาว) สำหรับต้นกาแฟอายุมากและให้ผลผลิตลดลง การเฝ้าระวังโรคแมลงศัตรูพืชและการใช้ชีววิธี ส่งเสริมการทำการตลาดการซื้อขายล่วงหน้าและกำหนดราคาตามชั้นคุณภาพ การสร้างคู่ค้าใหม่ที่เป็นองค์กรธุรกิจ/สถาบันเกษตรกรโดยระบบเจรจาจับคู่ธุรกิจ และตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่มีเงื่อนไขกำหนดราคาเมล็ดกาแฟตามชั้นคุณภาพ การสร้างทักษะการเป็นบาริสต้าให้เยาวชน สร้างแบรนด์สินค้ากาแฟชุมชนปางปูเลาะ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรเชื่อว่าการดำเนินงานดังกล่าวจะเป็นโมเดลการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพมีมูลค่าสูงและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และสามารถเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรในการผลิตสินค้าเกษตรในประเทศไทยได้