นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป สมัยพิเศษ ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 2-3 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งการประชุมประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี รัฐมนตรีอาร์เซ็ปทั้ง 16 ประเทศยืนยันความตั้งใจของผู้นำอาร์เซ็ปที่จะสรุปผลการเจรจาทั้งหมดให้ได้ในปีนี้ โดยประเด็นสำคัญที่ได้หารือกันในการประชุมครั้งนี้และได้ข้อสรุปการดำเนินการต่อไป อาทิ การลงทุน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การยื่นข้อเสนอการค้าบริการ เป็นต้น ซึ่งไทยในฐานะประธานอาเซียนและประธานการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปในปีนี้ได้แสดงบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางประสานระหว่างประเทศที่ยังคงมีประเด็นติดขัดเพื่อเร่งขับเคลื่อนการเจรจาให้จบในปีนี้
“ขอเรียนในภาพรวมว่าทุกประเด็นสามารถหาทางออกและมีข้อสรุปเบื้องต้นได้ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการจะนำไปสู่การปิดรอบการเจรจาครั้งสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายนที่กรุงเทพฯได้ซึ่งทุกประเทศพอใจเพราะเป็นความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมที่สุดครั้งหนึ่ง” นายจุรินทร์ กล่าว
รายงานแจ้งว่า การประชุมครั้งนี้รัฐมนตรีอาร์เซ็ปยินดีที่ทราบว่าการเจรจาในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่การประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปสมัยพิเศษ ครั้งที่ 7 เมื่อเดือนมีนาคม ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา มีความคืบหน้าขึ้นมาก โดยในด้านการเจรจาเปิดตลาดสมาชิกตกลงกันได้แล้วกว่า 2 ใน 3 ของการเจรจาเปิดตลาดทั้งหมด และในส่วนข้อบทสามารถสรุปในเรื่องโทรคมนาคม การเงิน วิชาชีพ ซึ่งเป็นภาคผนวกของบทการค้าบริการได้แล้ว ทำให้ปัจจุบันอาร์เซ็ปสามารถสรุปได้แล้ว 7 บท และ 3 ภาคผนวก จากทั้งหมด 20 บท และ 3 ภาคผนวก สำหรับบทที่ยังคงค้างอยู่มีหลายบทที่ใกล้จะสามารถหาข้อสรุปได้ในเร็ววันนี้ โดยรัฐมนตรีอาร์เซ็ปต่างแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันหาทางออกและเร่งสรุป 13 บทที่ค้างอยู่ให้ได้ เพื่อประกาศสรุปผลการเจรจาความตกลงอาร์เซ็ปภายในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ ณ กรุงเทพฯ สำหรับการประชุมอาร์เซ็ปที่เหลือในปีนี้ ประกอบด้วย (1) การประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ปนัดพิเศษ ในปลายเดือนสิงหาคม ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (2) การประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปครั้งที่ 7 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในต้นเดือนกันยายน ณ กรุงเทพฯ (3) การประชุมคณะกรรมการเจรจาฯ ครั้งที่ 28 ในปลายเดือนกันยายน ณ เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม และ (4) การประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปก่อนการประชุมผู้นำอาร์เซ็ปในต้นเดือนพฤศจิกายน
นายจุรินทร์ กล่าวเสริมว่า ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ ไทยยังได้หารือสองฝ่ายกับอินเดีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์ ซึ่งรัฐมนตรีแต่ละประเทศต่างเน้นย้ำถึงเป้าหมายการเจรจา และพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนไทยในฐานะประธานอาเซียนและประธานการประชุมรัฐมนนตรีอาร์เซ็ปผลักดันการเจรจาให้สำเร็จในปีนี้ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงอาร์เซ็ปให้ได้เร็วที่สุด รวมถึงเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อการสร้างบรรยากาศการค้าโลก
ทั้งนี้ การสรุปผลการเจรจาอาร์เซ็ปภายในปีนี้ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อเปิดโอกาสให้ไทยสามารถเพิ่มตลาดที่มีประชากรรวมกันมากถึง 3,500 ล้าน คิดเป็นประมาณ 48% ของประชากรโลกและมีมูลค่า GDP กว่า 27.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 32.3% ของ GDP สำหรับไทยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมเมื่อเปรียบเทียบกับ FTA ที่ไทยมีอยู่ เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางล้อ เส้นใย สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และกระดาษรวมถึงส่งเสริมให้การออกกฎระเบียบ และมาตรการด้านการลงทุนมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นและไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนจนเกินจำเป็น และช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในประเทศภาคีอาร์เซ็ปในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ ก่อสร้าง ค้าปลีก ธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และบันเทิง พวกเทคนิคตัดต่อภาพและเสียง การผลิตแอนนิเมชั่น และเปิดรับการลงทุนคุณภาพที่ไทยยังมีความต้องการ เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นในประเทศ และต่อยอดเป้าหมายการส่งเสริมอุตสาหกรรม S curve เช่น การวิจัยและพัฒนา สิ่งแวดล้อม โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ การศึกษา การซ่อมบำรุงรักษาชิ้นส่วนอากาศยาน เป็นต้น
นอกจากนี้ ท่ามกลางวิกฤติทางการค้าโลกในปัจจุบัน การสรุปผลการเจรจาอาร์เซ็ปให้ได้โดยเร็วจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการค้าและการลงทุน สร้างความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวทางการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค รวมถึงกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้ง 16 ประเทศอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
3 สิงหาคม 2562