นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ลงพื้นที่ถ่ายทำรายการ “SACICT เล่าเรื่อง” ที่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เพื่อนำเสนอเรื่องราวของผ้าย้อมคราม ของครูพิระ ประเสริฐก้านตรง ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2557 และชุมชนทอผ้าฝ้ายย้อมครามบ้านคำข่า ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI หรือ ผลิตภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ที่เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงคุณภาพและชื่อเสียงมาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจงเป็นที่ยอมรับ บ่งบอกถึงแหล่งที่มาและคุณลักษณะพิเศษท้องถิ่น ทุกผืนผ้าต้องผ่านความใส่ใจในกระบวนการถักทอ ผ่านกระบวนการย้อมครามธรรมชาติ ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้ได้สีที่สวยงามด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้นครามที่ปลูกและเก็บเกี่ยวในพื้นที่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
บทบาทสำคัญของ SACICT คือเป็นหน่วยงานหลักในการชี้นำทิศทางให้กับงานหัตถศิลป์แก่สังคมไทย โดยศึกษาแนวโน้มเทรนด์โลกผ่านการวิจัยและติดตามความเป็นไปของการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการออกแบบงานหัตถศิลป์ในตลาดนานาชาติ กำหนดเป็น “SACICT Craft Trend” ขึ้น เพื่อบ่งบอกทิศทางให้งานศิลปหัตถกรรมไทยที่มีภูมิปัญญาคงอยู่ได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งสำคัญ คือ การสนับสนุนให้กลุ่มครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย และ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม รวมทั้งชุมชนรองข้างมีความเข้มแข็ง พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้สามารถตอบโจทย์ตลาดได้ ขายได้ สร้างรายได้ให้ทั้งตัวครูและทายาท รวมไปถึงชุมชนรอบข้าง ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความอยู่ดีกินดี เพื่อให้เกิดการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมอย่างรอบด้าน
จึงเป็นที่มาของ โครงการ “ Weaving Street: เส้นทางสายผ้าทอ” ที่ SACICT ต้องการเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ การสร้าง Branding การออกแบบและตัดเย็บ เทรนด์ด้านการตลาด นำมาสู่การแปรรูปผ้าพื้นถิ่นเป็นสินค้าแฟชั่นที่มีความร่วมสมัยและเข้าถึงวิถีชีวิตปัจจุบันได้ สามารถใช้ประโยชน์และขายได้จริงในตลาดปัจจุบัน
ครูพิระ แห่งชุมชนทอผ้าบ้านคำข่า เป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมโครงการเส้นทางสายผ้าทอ จุดเด่นที่ผู้ร่วมโครงการทุกคนมีที่ถือเป็นจุดขายสำคัญคือ ทุกคนมีตัวตนในภูมิปัญญาการทอผ้าอยู่แล้ว มีความพร้อมในด้านแหล่งผลิตผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ นำมาสู่การแปรรูปเป็นสินค้าแฟชั่นของตนเองได้อย่างเข้มแข็ง แต่สิ่งที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมคือเรื่องของการตลาดและเทรนด์แฟชั่นโลก แล้วนำมาประยุกต์เข้ากับสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ โดยไม่ทิ้งอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เป็นจุดเด่น แต่เสริมสิ่งที่ร่วมสมัยมากขึ้น มองเห็นภาพของตัวเองชัดขึ้น จะทำให้พัฒนาไปสู่การสร้างแบรนด์ได้ชัดเจนและตรงจุดมากขึ้น
การพัฒนาของ SACICT จึงเป็นการผลักดันให้ชุมชนเหล่านี้สามารถยืนได้ด้วยตนเอง พึ่งพาตนเอง ด้วยมุมมองใหม่ๆ มีแรงบันดาลใจ มีความคิดสร้างสรรค์ที่คิดพัฒนาต่อยอด เกิดการคิดเพิ่มเติมใหม่ในทุกๆวันไม่หยุดนิ่ง สิ่งนี้เองที่เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาอย่างแท้จริง