กรมชลประทาน เฝ้าระวังฝนใต้ต่อเนื่อง กำชับเหนือ-อีสาน-กลาง บริหารจัดการน้ำตามแผน

วันที่ 25 ธันวาคม 2566 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 สำนักเครื่องจักรกล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กรุงเทพมหานคร) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นต้น เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (25 ธ.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 59,581 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 17,615 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 71 ของความจุอ่างฯ รวมกัน กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รักษาระบบนิเวศ การเกษตร อุตสาหกรรม และสำรองไว้ใช้ในต้นฤดูฝนหน้า ตามลำดับ จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศไปแล้วกว่า 5,979 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 28 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 1,621 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 27 ของแผนฯ ปัจจุบันทั้งประเทศมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 3.56 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 61 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 2.67 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 88 ของแผนฯ ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ ยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทั้งนี้ ได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ จัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำทุกกิจกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ตามลำดับความสำคัญ

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนตกสะสมในบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม จึงได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องจักรอื่น ๆ ไว้ในพื้นที่เสี่ยง ให้สามารถนำไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด