พอช. ลงพื้นที่ร้อยเอ็ด และอำนาจเจริญ ศึกษาโมเดลการพัฒนาที่อยู่อาศัย และโมเดลการแก้ไขปัญหาความยากจน ส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนฐานราก

วันที่ 22-23 ธันวาคม 2566 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน พร้อมกรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน ทีมงาน วปอ. นางสาวจันทนา เบญจทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. และเจ้าหน้าที่ พอช. ลงพื้นที่ประชุมแลกเปลี่ยน และศึกษาดูงานในพื้นที่ศึกษาโมเดลการพัฒนาที่อยู่อาศัย และโมเดลแก้ไขปัญหาความยากจน ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดอำนาจเจริญ ในการลงพื้นที่ดังกล่าวมีผู้แทนองค์กรชุมชนจากบ้านถ้ำเสือ จ.เพชรบุรี เครือข่ายพัฒนาที่อยู่อาศัยคลองแม่ข่า จ.เชียงใหม่ และ จ.ภูเก็ต เข้าร่วมศึกษาดูงานเพื่อเป็นแนวทางในการหนุนเสริมความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชนต่อไป

โดยวัน 22 ธันวาคม 2566 ได้ลงพื้นที่โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเมือง และโมเดลการแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดร้อยเอ็ด ณ โครงการบ้านมั่นคง ชุมชนรอบคูเมืองเก่าร้อยเอ็ด โดย ดร.วัฒนพงษ์ ชิตทรงสวัสดิ์ รองนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด และสมาชิกบ้านมั่นคงชุมชนคูเมืองให้การต้อนรับ และเยี่ยมชมพื้นที่ปฏิบัติการโมเดลแก้จน โดยการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน ภาคเอกชน และภาคีวิชาการ ณ พื้นที่แปลงรวม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยนายสุบรรณ์ ทุมมา อาจารย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยิราชมงคลอิสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ และเจ้าหน้าที่ พร้อมแกนนำองค์กรชุมชนให้การต้อนรับ

และในวันที่ 23 ธันวาคม 2566 ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ศึกษาดูงานโมเดลการประกอบธุรกิจออร์การ์นิคฟาร์ม และแปลงเกษตร ณ ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์บ้านหนองเม็ก ไร่ภูตะวันออร์แกนิคฟาร์ม จ.อำนาจเจริญ

“วันนี้อยากมาดู และภูมิใจที่เห็นการบริหารจัดการ และการตลาดของชุมชนที่นี่ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพราะประเทศไทยมีปัญหาเรื่องน้ำ” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

นายศุภชัย มิ่งขวัญ หรือป้อม ลูกเขยของนางจำปา สุวะไก ประธานกลุ่มผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก ซึ่งเป็นแกนนำของกลุ่มผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก โดยทำหน้าที่ส่งเสริมการผลิตและดูแลด้านการตลาด คุณป้อมเรียนจบจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี ไปฝึกงานเป็นยุวเกษตร ที่อิสราเอล นานถึง 7 ปีเต็ม ระบุว่า มีความพยายามต่อยอดองค์ความรู้ของตนเอง เพื่อตอบโจทย์การทำเกษตร เพราะการทำเกษรมีความเสี่ยง เราจึงอยากบริหารความเสี่ยงให้มันลดน้อยลง อาชีพที่ยากจนที่สุดของคนไทยคือเกษตรกร พ่อแม่ทำเกษตรมา แต่ยังตอบโจ ย์แก้ความยากจนไม่ได้ เลยสอบชิงทุนไปฝึกงานที่ประเทศอิสราเอล เพราะเป็นประเทศที่ทำเกษตรกลางทะเลทราย เขามีบริหารจัดการน้ำอย่างไร เพราะเห็นต้นไม้ขึ้นกลางทะเลทราย ไปเรียนท่ามกลางข้อสงสัย ไปเรียน 11 เดือนยังไม่พอ จึงอยากเป็นนักบริหารการเกษตร ที่ร่ำรวย ปัจจัยที่คนยิวทำการตลาดร่ำรวยได้ คือ 1) ทำรวม จัดสรรเท่าๆ กัน 2) ทำเชิงปัจจเจก แต่ทำเกษตรเกื้อกูล 3) รวมกันคิด แยกผลิต รวมกันขาย 4) ทำการตลาดนำ การผลิต ก่อนการทำเกษตร เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า และทำการกำหนดราคาได้ นั่นคือ เขารู้ต้นทุนทั้งหมดแล้ว แต่จุดอ่อนคือ พื้นที่และสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้อ ทำระบบโรงเรือน ซึ่งก็รวมกับการคิดระบบต้นทุน ที่นั่นทำเกษรเพื่อเอาชนะธรรมชาติ

กลับมาบ้าน ก็มาเป็นวิทยากร ที่ ธกส. แต่มีแต่ความรู้ให้ แต่ไม่มีรูปธรรมให้ชาวบ้านดู จึงลาออก และกลับมาทำเกษตรที่บ้าน ทำเกษตรอินทรีย์ ถือเป็นทุนเริ่มต้น ตลาดต้องการอะไร ปลูกสิ่งนั้น มีสมาชิก 35 ครัวเรือน 200 โรงเรือน

คน 15 ไร่ ผลิตให้ได้ 365 วัน จึงเป็น ”หนองเม็กโมเดล“ 1 ครัวเรือน ต้องมี 6 โรงเรือน 1 ปีคืนทุน เช่น หากสมาชิกต้องการปลูกผักสลัดออกมาขายสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จะต้องมีโรงเรือนปลูกอย่างน้อย 6 โรงเรือน โดยทั่วไป ผักสลัดจะใช้เวลาปลูกดูแลประมาณ 45 วัน ก่อนปลูกจะต้องเพาะเมล็ดพันธุ์สลัดในเนิร์สเซอรี่ก่อน เมื่อต้นกล้าเติบโตตามที่ต้องการจึงค่อยย้ายมาปลูกในโรงเรือนอีก 30 วัน เมื่อต้นผักสลัดเติบโตเป็นสัปดาห์ที่ 5 จึงเริ่มตัดผลผลิตออกขายได้ ในสัปดาห์ที่ 6 จะเริ่มพักแปลง ประมาณ 7 วัน ก่อนลงทุนปลูกผักรอบใหม่ ระหว่างที่เตรียมแปลงปลูกรอบใหม่ สมาชิกจะเพาะกล้าพันธุ์ผักสลัดไปพร้อมๆ กัน

ที่นี่ใช้องค์ความรู้มาใช้ร่วมการผลิต และมีแผนการผลิต ตอบโจทย์ความต้องการ ผสานกับการบริหารการปลูกและผลผลิตผลคำนวณทั้งหมด ตั้งแต่ต้นทางการผลิต ต้นทุนการผลิต ค่าแรงตัวเอง ค่าน้ำ ค่าไฟ ถอดรหัสออกมาทั้งหมด มีการบริหารร่วม และทำ R&D ฝึกสมาชิกเป็นผู้ประกอบการ ไม่ต้องลงทุนมาก เพราะใช้หลักบริหารร่วมกัน และที่นี่เป็นศูนย์บ่มเพาะนักศึกษาเกษตร เรียนกระบวนการและบริหารทั้งหมด มาเรียน 1 ปี แต่กลับไปพลิกฟื้นที่ดินที่บ้าน ทำเกษตรแก้จนได้ หลักการทำเกษตรมี 2 เรื่องหลักคือ ระบบน้ำ และระบบดิน เรื่องอื่นๆ ก็จะตามมา เป้าหมายอยากเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น ปัญหาของประเทศยังมีปัญหาด้านเมล็ดพันธุ์

ปัจจุบันสินค้าเกษตรอินทรีย์ของชุมชนแห่งนี้ ส่งไปขายให้คู่ค้าหลักคือ บริษัท S&B food supply จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่จัดส่งผักขายให้กับห้าง Tops supermarketและมีขายที่ตลาดในพื้นที่ด้วย โดยสินค้าผักอินทรีย์ของชุมชนแห่งนี้ จำหน่ายในชื่อแบรนด์ไร่ภูตะวัน ออร์แกนิค ฟาร์ม จังหวัดอำนาจเจริญ ตอนนี้พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรที่สนใจ และนำผักแบ่งปันให้กับชุมชน