วธ. เสริมพลัง Soft Power ด้วยเสน่ห์แห่งสีสัน เทศกาลแห่งศรัทธา ส่งเสริม Winter Festivals ในประเพณีแห่ดาวคริสต์มาส จังหวัดสกลนคร ประจำปี ค.ศ. 2023

นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ดำเนินนโยบายขับเคลื่อน Soft Power ในมิติศาสนา โดยร่วมกับองค์การเครือข่ายทั้ง 5 ศาสนา จัดโครงการ “เสน่ห์แห่งสีสัน เทศกาลแห่งศรัทธา” ประกอบด้วย กิจกรรม “เสน่ห์วันวาน เทศกาลงานวัด” ของศาสนาพุทธ “วันอาซูรอสัมพันธ์” ของศาสนาอิสลาม “เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส” ของศาสนาคริสต์ “เทศกาลนวราตรี” ของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู และ “วันครบรอบ 554 ปี วันคล้ายวันประสูติพระศาสดาศรีคุรุนานักเทพ พระปฐมบรมศาสดา” ของศาสนาซิกข์ เพื่อเป็นการส่งเสริมเทศกาลประเพณีด้านศาสนาและวัฒนธรรม ให้เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยว เสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มั่นคง และสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างศาสนิกชนทุกศาสนา”

สำหรับประเพณีแห่ดาวที่จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญของศาสนาคริสต์นั้น เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2525 เกี่ยวข้องโดยตรงกับ พระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน อดีตผู้ปกครองอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงระหว่างปี พ.ศ. 2523-2547 ที่มีความประสงค์จะให้หมู่บ้านคริสตชนในเขตปกครอง ได้นำดาวที่ใช้แห่ในคืนวันที่ 24 ธันวาคม เพื่อเฉลิมฉลองการบังเกิดมาของพระเยซูเจ้าในหมู่บ้านของตน มาร่วมแห่อีกครั้งที่จังหวัดสกลนคร จนในกระทั่ง ปี พ.ศ. 2546 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้บรรจุประเพณีแห่ดาวให้เป็นงานส่งเสริมการท่องเที่ยวงานหนึ่งของจังหวัด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชมและร่วมงานคริสต์มาสที่สกลนคร

ในปีนี้ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับจังหวัดสกลนคร หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน กำหนดจัดงานประเพณีแห่ดาวเทศกาลคริสต์มาส จังหวัดสกลนคร ประจำปี ค.ศ. 2023 ในระหว่างวันที่ 20 – 25 ธันวาคม 2566 เพื่อฉลองการบังเกิดของพระเยซู และขอบคุณที่พระองค์นำแสงสว่างและความรอดพ้นมาสู่มวลมนุษย์ ตลอดจนเพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริมวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสกลนคร โดยได้สนับสนุนงบประมาณให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสกลนครจัดประกวดผลิตภัณฑ์ที่ระลึกสร้างสรรค์ สีสันแห่งดวงดาว ชาวคริสตชนสกลนคร เพื่อนำไปสู่การสนับสนุนต่อยอด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ระลึกในงานเทศกาลประเพณี ให้เป็นที่ประจักษ์ และเผยแพร่ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นผ่านการใช้ศิลปะ และวัตถุดิบท้องถิ่นในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ตามแนวคิดของนโยบาย 1 Family 1 Soft Power สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงวัฒนธรรม “วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ” รองรับ THACCA ดัน 10 Soft Power สร้างเสน่ห์วิถีไทย ด้านเทศกาลทางศาสนา และจัดกิจกรรมเส้นทางส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านความเชื่อและศรัทธาตามรอยนักบุญ เกื้อหนุนชุมชนเพื่อประชาสัมพันธ์และดึงดูดการท่องเที่ยวในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในทุกปีนอกจากการชมขบวนรถแห่ดาวอันสวยงามแล้ว ภายในจังหวัดยังมีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดสกลนคร อาทิเช่น การร่วมพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก และพิธีการแห่ดาวเล็กแบบดั้งเดิม ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ ตำบลท่าแร่ อำเภอเมืองสกลนคร การจัดกิจกรรมแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ของที่ระลึกจังหวัด พร้อมชมการแสดงแสง สี เสียง และศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน รวมทั้งกิจกรรมประดับไฟตามอาคารบ้านเรือน และถ่ายรูปเช็คอินต้นคริสต์มาส ณ บริเวณลานรวมน้ำใจไทสกล อำเภอเมืองสกลนคร

โดยไฮไลท์ของงานจะอยู่ในวันที่ 25 ธันวาคม 2566 คือ พิธีเปิดงานประเพณีแห่ดาวเทศกาลคริสต์มาส ประจำปี ค.ศ. 2023 เพื่อเปิดขบวนรถแห่ดาวประดับไฟหลากสีจากบริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 อำเภอเมืองสกลนคร ไปจนถึง บริเวณสำนักมิสซังโรมันคาทอลิกท่าแร่ – หนองแสง (โรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร) และมีพิธีมอบรางวัลให้กับผู้ชนะการประกวดผลิตภัณฑ์ที่ระลึกสร้างสรรค์ สีสันแห่งดวงดาวชาวคริสตชนสกลนคร

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวทิ้งท้ายว่า จังหวัดสกลนคร ได้ชื่อว่าเป็น “เมือง 3 ธรรม” ซึ่งทั้ง 3 ธรรม ได้แก่ “นครธรรม เมืองร่มเย็น” คือวัดวาอารามอันแสนสงบมีพระเกจิอาจารย์ดัง และสถานที่เจริญภาวนา “นครแห่งธรรมชาติ” สถานที่พักผ่อนตามแหล่งธรรมชาติที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง และ “นครวัฒนธรรมประเพณี” ด้วยเพราะเป็นจังหวัดที่อุดมไปด้วยทุนทางวัฒนธรรมในสังคมของชุมชนท้องถิ่นที่สั่งสมสืบทอดต่อกันมา และมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในจังหวัดที่มุ่งการใช้ทุนทางวัฒนธรรมนี้เป็นพื้นฐาน เพื่อก้าวสู่กระแส การพัฒนาของโลกด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์และพัฒนาต่อยอดไปสู่การเป็นเมืองวัฒนธรรม

การที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมสนับสนุนประเพณีทางศาสนาดังกล่าว ผ่านโครงการเสน่ห์แห่งสีสันเทศกาลแห่งศรัทธา ภายใต้ประเพณีแห่ดาวคริสต์มาส จังหวัดสกลนคร ประจำปี ค.ศ. 2023 ก่อให้เกิดการอนุรักษ์ ส่งเสริมวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมอันดีงามของท้องถิ่น ผ่านเทศกาลประเพณีที่สำคัญทางศาสนาในรูปแบบของ Soft Power ด้านเทศกาล เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีทางศาสนา อันจะนำไปสู่การเกิดความรัก ความสามัคคีในสังคมไทย ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเทศกาลในมิติทางศาสนา นำมาสู่การส่งเสริมรายได้ให้กับผู้ประกอบการในการขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ในพื้นที่โดยรอบ อาทิ ร้านอาหาร ที่พัก โรงแรม รวมไปถึงร้านขายของที่ระลึก เป็นต้น ซึ่งสามารถสร้างรายได้แก่ชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเทศกาลได้อย่างยั่งยืน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้มีนโยบายในการส่งเสริมเทศกาลประเพณีของชาติ และเทศกาลอื่น ๆ ด้านวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงศาสนาและวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมประเพณีทางศาสนาที่สำคัญเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ตลอดจนสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของไทยให้อยู่คู่กับชุมชนสืบไป