99 วัน “ธรรมนัส” นั่งรัฐมนตรีเกษตรฯ กรมประมงขานรับ เร่งสางปมปัญหาประมงทะเล ปรับกฎหมายลำดับรอง 19 ฉบับ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2566 เวลา 16.00 น. ณ กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงานแถลงข่าวผลการดำเนินงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “เกษตรฯ 99 วัน ทำได้จริง” โดยร้อยเอก ธรรมนัส  พรหมเผ่า  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะผู้บริหาร โดยในส่วนของกรมประมงนั้น ได้มีการให้รายละเอียดถึงการแก้ไขปัญหากฎหมายด้านการประมง

นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จาก 99 วันที่ร้อยเอก ธรรมนัส  พรหมเผ่า ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1 ในนโยบายสำคัญของท่าน คือ การเร่งแก้ไขปัญหาในภาคการประมง ซึ่งท่านได้ลงพื้นที่ไปพบปะกับพี่น้องชาวประมง เพื่อสอบถามถึงชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพ และพยายามนำข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ได้รับมา มาพิจารณาและหาแนวทางให้การช่วยเหลือ อาทิ ผลกระทบจากการออกกฎหมายประมง  ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน  ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ฯลฯ ซึ่งท่านได้มอบหมายให้กรมประมงหาแนวทางดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาภาคการประมงทะเล ซึ่งปัจจุบันมีการตั้งคณะกรรมการการขับเคลื่อนการประมงไทย จำนวน 3 คณะ ได้แก่ 1) คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเลเพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง  2) คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ซึ่งทั้ง 2 คณะมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ 3) คณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล โดยมีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล ได้พยายามผลักดันให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรองที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมประมง เพื่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง จำนวน 19 เรื่อง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กฎหมายลำดับรองที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล และผ่านระบบกลางทางกฎหมายแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา จำนวน 9 เรื่อง และ กลุ่มที่ 2 กฎหมายลำดับรองที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเลแต่อยู่ในระหว่างการดำเนินการตามระบบกลางทางกฎหมาย จำนวน 9 เรื่อง

และล่าสุด เรื่องการเพิ่มวันทำการประมง ปีการประมง 2566 จำนวนไม่เกิน 50 วัน (จำนวนวันขึ้นอยู่กับพื้นที่และชนิดของการทำการประมง) อีก 1 เรื่อง โดยเป็นการเพิ่มให้กับกลุ่มเรือที่ได้รับผลกระทบจากจำนวนวันทำการประมงไม่เพียงพอ จำนวน 1,200 ลำ โดยเป็นการนำสัตว์น้ำที่เหลือจากการจัดสรรตามโควต้ามาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตามค่าการประเมินปริมาณสัตว์น้ำที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมง ปีการประมง 2566 เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ

การปรับปรุงกฎหมายดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวประมง ส่วนปัญหาในเรื่องอื่นๆ นั้น ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้เน้นย้ำถึงการบูรณาการหาแนวทางออกร่วมกัน โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสมควบคู่ไปกับการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลอย่างยั่งยืน ตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ โดยเฉพาะกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อชาวประมง โดยมีเจตนารมย์ที่จะมุ่งมั่นพลิกฟื้นอุตสาหกรรม ประมงไทยให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ ที่สำคัญของประเทศและประชาชน และการประมงทะเลมีเสถียรภาพ โดยเปลี่ยนมุมมองจากที่กฎหมายเป็นอุปสรรคเปลี่ยนเป็นรัฐสนับสนุน ทั้งนี้ การดำเนินการที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ไม่เป็นการลดประสิทธิภาพในการคงไว้ซึ่งการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืน และไม่กระทบกับหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล