เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2566 โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่รองประธานกรรมการ คนที่ 2 ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
พลตำรวจเอก พัชรวาท กล่าวว่า ในวันนี้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้เห็นชอบการจัดตั้งงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาฝุ่นละอองและรับทราบความก้าวหน้ามาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 นอกจากนี้ กก.วล. ยังได้เสนอแผนแม่บทจัดการมลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือน และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการมลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือน 3 ระยะ เพื่อใช้เป็นแผนหลักกำหนดทิศทางและกรอบแนวทางการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ในการจัดการมลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือน
รมว. ทส. กล่าวว่า กก.วล. ยังได้ให้ข้อเสนอรูปแบบการคัดแยกและเก็บขนขยะมูลฝอยแบบแยกประเภท โดยให้ความสำคัญกับการจัดการ ณ ต้นทาง ตั้งแต่การออกแบบการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco Design) ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน โดยเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนรูปแบบการคัดแยกและเก็บขนขยะมูลฝอยแบบแยกประเภท 2 ระยะ (พ.ศ. 2566 – 2570) ตลอดจนเห็นชอบการปรับปรุงมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอาคารให้มีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น สำหรับอาคาร 3 ประเภท ได้แก่ อาคารอยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ และอาคารสถานพยาบาล พร้อมทั้งได้เห็นชอบการกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับอาหารสัตว์ เพื่อควบคุมการปล่อยสารอาหารลงสู่แหล่งน้ำ รวม 11 พารามิเตอร์
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว ยังได้ให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม 4 โครงการ คือ (1) โครงการทางหลวงหมายเลข 4 ตอนบ้านราชกรูด – อำเภอกะเปอร์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น (2) โครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี (3) โครงการถนนสายเสนอแนะ สาย ฉ ตามผังเมืองรวมชลบุรี พ.ศ. 2553 (ส่วนต่อขยายสะพานเลียบชายทะเลเดิม) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ (4) โครงการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนและหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ