วันที่ 18 ธันวาคม 2566 เวลา 14.00 น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “หลักสูตรการยุติความรุนแรง ลดการตีตรา และการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ทางเพศและวิถีทางเพศ” โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานพิธีลงนาม พร้อมทั้งนางสุดา สุหลง รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ผู้บริหารกระทรวง พม. นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเด็ก เอกอัคราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย นายเรโนด์ เมเยอร์ ผู้แทนประจําโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในประเทศไทย ผู้แทนองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และแขกผู้มีเกียรติจากสหประชาชาติ เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม.
นายอนุกูล กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “หลักสูตรการยุติความรุนแรง ลดการตีตรา และการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ทางเพศและวิถีทางเพศ” จัดทำขึ้นเพื่อนำหลักสูตรที่ได้มาพัฒนาร่วมกันในการนำไปใช้สร้างความเข้าใจในความหลากหลายและการมีส่วนร่วมในสังคม โดยมีความร่วมมือสำคัญดังนี้ 1) ร่วมกันสนับสนุนและร่วมมือประชาสัมพันธ์หลักสูตรฯ เพื่อสร้างความเข้าใจในความหลากหลายและการมีส่วนร่วมในสังคม 2) ร่วมกันสนับสนุนและจัดฝึกอบรมหลักสูตรฯ ภายใต้ความร่วมมือของภาคีทุกฝ่าย โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น ชาย หญิง หญิงรักหญิง ชายรักชาย คนข้ามเพศ คนรักทั้งสองเพศ คนที่มีทั้งสองเพศ และบุคคลที่ไม่นิยามตนในระบบทวิเพศ รวมถึงกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อนของกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กและเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ชาติพันธุ์ ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี และผู้ใช้สารเสพติด ซึ่งประกอบไปด้วย องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาสังคมและชุมชน โดยผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรรับรอง 3) ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงหลักสูตรฯให้ได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด มีความทันสมัย โดยเน้นผู้เข้าร่วมเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ความรู้และทักษะที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง รวมถึง การเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ เสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงหรือพัฒนาหลักสูตรฯ และกฎหมาย กฎระเบียบ ประกาศ หรือข้อบังคับเพื่อยุติความรุนแรงลดการตีตรา และการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ทางเพศและวิถีทางเพศ และ 4) ร่วมกันติดตาม ประเมิน และรายงานผลของการพัฒนาหลักสูตรฯ เพื่อผลักดันให้มีการทบทวนนโยบายที่เกี่ยวข้องให้มีการตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมให้มีประสิทธิผลดียิ่งขึ้น
นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตสหรัฐฯ ผ่านทาง The U.S. President’s Emergency Plan for AIDS Relief (PEPFAR) ผ่านองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development – USAID) เพื่อกระจายแหล่งเงินทุนโดยดําเนินการตามแผนความยั่งยืนด้วยการพัฒนารูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (วิสาหกิจเพื่อสังคม) นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากสํานักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) โดยวัตถุประสงค์เพื่อการเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนโดยเฉพาะชุมชน LGBTQI+ ด้วยการส่งเสริมความเข้าใจและส่งเสริมความหลากหลายทางเพศเพื่อลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ เพื่อเป็นการเริ่มต้นกระบวนการขัดเกลาทางสังคมทางเพศในหมู่เยาวชนและสังคมโดยรวม ซึ่งเอื้อต่อการพัฒนาผู้นําที่สามารถให้ความช่วยเหลือและป้องกันผู้ที่เผชิญกับความรุนแรง การตีตรา การเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในชุมชนของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ USAID มุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนด้านเทคนิคเพื่อให้สามารถขยายโปรแกรมให้ครอบคลุมภาคเอกชนและภาครัฐต่างๆ เพื่อตอกย้ำความสามารถในการสร้างผลกระทบที่ยั่งยืนต่อชุมชน