นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2562 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 25 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกงและเยอรมนี ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 3,491 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 415 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบกู้คืนพลังงานและระบบไฟฟ้าระบบใหม่ องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมการขุดเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับเครื่องจักรอัตโนมัติ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการวิเคราะห์และพัฒนาคุณภาพซิลิโคน องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการใช้เครื่องมือตรวจสอบคุณภาพ Vernier, Microscope เป็นต้น
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
- ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 7 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และเยอรมนี มีเงินลงทุนจำนวน 2,389 ล้านบาท อาทิ
- บริการค้นคว้าและวิจัย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทแป้ง
- บริการให้ใช้ช่วงสิทธิในเทคโนโลยีการผลิตซิลิโคน
- บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนยางซิลิโคนสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ
- บริการให้คำปรึกษาแนะนำและฝึกอบรมด้านการวางแผนการเงิน ด้านทรัพยากรบุคคล ด้านโลจิสติกส์ และด้านบำรุงรักษาเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้า
- ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 11 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศฮ่องกง ญี่ปุ่น และเยอรมนี มีเงินลงทุนจำนวน 162 ล้านบาท อาทิ
- บริการทางวิศวกรรมเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิต อุปกรณ์และเครื่องมือที่ทำจากโลหะ
- บริการ ติดตั้งแอปพลิเคชั่นสำหรับการให้บริการผ่านระบบออนไลน์และออฟไลน์ ลงบนโทรศัพท์เคลื่อนที่
- บริการรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์ไอศกรีม
- บริการเป็นผู้จัดการกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
- บริการสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ
- การทำกิจการโฆษณา
- ธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีก/ค้าส่ง จำนวน 5 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศสวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส มีเงินลงทุนจำนวน 89 ล้านบาท คือ
- นายหน้าจัดหาตลาดเพื่อการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์พิเศษ
- นายหน้าหรือตัวแทนเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
- การค้าปลีกเครื่องตัด บิดเกลียว ปอกปลายสายไฟ เครื่องทดสอบสายไฟอัตโนมัติ
- การค้าปลีกเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในกระบวนการชุบเคลือบผิว เคมีภัณฑ์สำหรับการบำบัดน้ำเสีย ครีมขัด แว็กซ์ขัดผิวโลหะและพลาสติก
- การค้าส่งนาฬิกาข้อมือ สายนาฬิกา เเละเครื่องประดับ
- ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาเอกชน จำนวน 2 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง
มีเงินลงทุนจำนวน 851 ล้านบาท คือ
- บริการขุดเจาะปิโตรเลียม
- บริการออกแบบทางวิศวกรรม จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ
ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2562 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 56 ในขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 1,933 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 124 เนื่องจากในเดือนกรกฎาคม 2562 มีผู้ได้รับอนุญาต ให้ประกอบธุรกิจซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง คือ บริการออกแบบทางวิศวกรรม จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ บริการขุดเจาะปิโตรเลียม บริการให้ใช้ช่วงสิทธิในเทคโนโลยีการผลิตซิลิโคน เป็นต้น
อนึ่งในเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2562 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 124 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 15,962 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่าจำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลง 36 ราย คิดเป็นร้อยละ 23 ขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 8,464 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 113 เนื่องจากในปี 62 มีต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง อาทิ บริการงานวิศวกรรม การจัดหา ติดตั้ง และทดสอบการใช้งานของระบบเครื่องบดดินหรือหินกึ่งเคลื่อนที่โครงการแม่เมาะ บริการออกแบบ จัดซื้อจัดหา ติดตั้ง ตรวจสอบ รวมทั้งการแก้ไขความชำรุดบกพร่องและบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน บริการขุดเจาะปิโตรเลียม บริการเป็นศูนย์บริหารเงิน บริการรับค้ำประกันหนี้ เป็นต้น
ที่มา : กองบริหารการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ