สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดงาน “อาชีวะยุคใหม่ สร้างเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” เพื่อเป็นการยกระดับการขับเคลื่อนความร่วมมือกับภาคเอกชน และประชาสัมพันธ์การสร้างเครือข่ายในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา รวมถึงจัดนิทรรศการแสดงผลงานการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.)ที่ผ่านมา เพื่อสร้างการรับรู้ในทุกภาคส่วน ซึ่งมีพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน และเยี่ยมชมนิทรรศการ 14 กลุ่มอาชีพ รวมทั้งร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือภายใต้การขับเคลื่อนคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) ใน 14 กลุ่มอาชีพ 41 หน่วยงาน โดยมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ประธาน อ.กรอ.อศ. ผู้แทนจากสถานประกอบการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รวมกว่า 400 คน ณ ห้องประชุมปทุมมาศ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการอาชีวศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับความร่วมมือในการจัดการอาชีวศึกษาร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในรูปแบบทวิภาคี โดยให้เป็นหนึ่งในนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ในการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และความต้องการกำลังคนของประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ใช้กลไกการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษา โดยมีคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ. อศ.) ประกอบด้วย สถานประกอบการชั้นนำของประเทศในกลุ่มอาชีพต่าง ๆ มาร่วมเป็นภาคีเครือข่ายที่สำคัญในการร่วมจัดการอาชีวศึกษา มีเป้าหมายในการร่วมพัฒนาหลักสูตร ร่วมจัดการเรียนการสอน ร่วมพัฒนาบุคลากร ร่วมพัฒนาสถานศึกษาและร่วมประเมินสมรรถนะอาชีพ เพื่อสนับสนุนการสร้างคน สร้างงาน เน้นความร่วมมือในการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่งผลให้ผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษามีคุณภาพ มีสมรรถนะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ โดยเน้นรูปแบบการเรียนสู่การปฏิบัติจริง (Learning by Doing) เพื่อสร้างสมรรถนะอาชีพและทักษะชีวิต ให้ผู้สำเร็จการศึกษาอาชีวศึกษา มีความพร้อมในการเข้าสู่อาชีพได้ทันต่อความต้องการกำลังคนของประเทศ สามารถประกอบอาชีพได้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ
“การลงนามความร่วมมือภายใต้การขับเคลื่อนคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) 14 กลุ่มอาชีพ 41 หน่วยงาน และร่วมรับฟังความคิดเห็นแนวทางการพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษา จะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพกำลังคนอาชีวศึกษา รองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจและบริการ และสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมสมัยใหม่ต่อไป” รมว.ศธ.กล่าว
ด้านนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การจัดงาน “อาชีวะยุคใหม่ สร้างเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนความร่วมมือกับภาคเอกชน ประชาสัมพันธ์การสร้างเครือข่ายในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา รับฟังข้อเสนอแนวทาง การพัฒนาการจัด การอาชีวศึกษารองรับภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจและบริการ ตลอดจนสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต รวมถึงการแสดงผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา
การจัดพิธีลงนามความร่วมมือการผลิต และพัฒนากำลังคน ภายใต้การขับเคลื่อน ของ อ.กรอ.อศ. เพื่อสร้างการรับรู้ในทุกภาคส่วน มี14 กลุ่มอาชีพ 41 หน่วยงาน ได้แก่
1.กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนท์ มี 6 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท เอส วี โอ เอ จำกัด (มหาชน) บริษัท แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน)
2.กลุ่มอาชีพเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร มี 3 หน่วยงาน ได้แก่ สมาคมกุ้งตะวันออกไทย บริษัท สปริงฟิลด์ รอยัล คันทรีคลับ จำกัด บริษัท นาเฮียใช้ จำกัด
3. กลุ่มอาชีพก่อสร้าง มี 5 หน่วยงาน ได้แก่ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน บริษัท สี่พระยาก่อสร้าง จำกัด บริษัท นวพลาสติกอุตสาหกรรม จำกัด บริษัท ซี.อี.เอส. จำกัด บริษัท เอส.บี.เฟอร์นิเจอร์ เฮ้าส์ จำกัด
4. กลุ่มอาชีพธุรกิจค้าปลีก มี 4 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด บริษัท ไทยยามาซากิ จำกัด บริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
5. กลุ่มอาชีพภาคธุรกิจและบริการอาหาร มี 2 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามสินทรัพย์พัฒนา จำกัด
6.กลุ่มอาชีพอัญมณีและเครื่องประดับ มี 1 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท ไอ.จี.เอส จำกัด (มหาชน)
7. กลุ่มอาชีพสุขภาพและความงาม มี 1 หน่วย ได้แก่ บริษัท เอส.ซี.เสรีชัยบิวตี้ จำกัด
8. กลุ่มอาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน มี 12 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท เบตเตอร์เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอก โซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด บริษัท อินโนเวชั่น เพาเวอร์ เอ็นเนอยี่ จำกัด บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วินด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท ออนกฤษ พาวเวอร์ จำกัด บริษัท พี.อาร์.โซล่า เอนเนอร์จี จำกัด บริษัท การจัดการสิ่งแวดล้อมหาดใหญ่ จำกัด บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด บริษัท เฟิร์สเทคโนโลยีแอนด์คอนโทรล จำกัด บริษัท เอซีอี อิเลคทริค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เทคโนโลยีไออาร์พีซี จำกัด ห้างหุ่นส่วนจำกัด ภูวสินศิริคอนสตรัคชั่น
9. กลุ่มอาชีพเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น มี 1 หน่วยงาน ได้แก่ สมาคมผู้ค้าเครื่องปรับอากาศไทย
10. กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีอุตสาหกรรมตัวถังและสีรถยนต์ มี 1 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท โตโยต้าตาปี จำกัด
11. กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมการบิน มี 2 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท เออีพีเอส (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท เชียงราย เอเวชั่น โฮลดิ้ง จำกัด
12. กลุ่มอาชีพแมคคาทรอนิกส์ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ มี 1 หน่วยงาน ได้แก่ สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA)
13. กลุ่มอาชีพเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มี 1 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)
14. กลุ่มอาชีพธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ มี 1 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม