วันที่ 18 ธันวาคม 2566 นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) และนายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการแปรรูปขยะจากท้องทะเลไทยเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ในกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โครงการ Upcycling For Life ร่วมกับศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิเอิร์ธ อะเจนด้า และภาคเอกชนต่าง ๆ ประกอบด้วยบริษัท เจ.ซี.เจ. จำกัด (Double Lock) บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด มหาชน และบริษัท นิล-วัน โปรเจ็ค จำกัด ในการสนับสนุนการแปรรูปขยะจากท้องทะเลไทยเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า โครงการ Upcycling For Life จะมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เช่น ภาชนะรองรับของเสียในสถานพยาบาล เฝือกอ่อนประคองสัตว์น้ำ โดยบริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด จะสนับสนุนการจัดหาและส่งมอบเม็ดพลาสติกที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลแล้ว ให้แก่บริษัท เจ.ซี.เจ จำกัด (Double Lock) เพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด มหาชน พร้อมทั้งบริษัทในเครือ ซึ่งจะสนับสนุน ชิปโพลีเมอร์ เส้นด้าย ผืนผ้า หรือผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากขวดน้ำดื่ม และบริษัท นิล-วัน โปรเจ็ค จำกัด ซึ่งจะสนับสนุน ชิปโพลีเมอร์ เส้นด้าย ผืนผ้า ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากแห อวน หรือเชือกไนลอน สำหรับส่งต่อให้บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการออกแบบ ตัดเย็บ และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปขยะจำพวกแห อวน เชือกไนลอน และขวดน้ำดื่ม (PET) เป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
การดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่อยู่ภายใต้ (ร่าง) แผนแม่บทโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ระยะ 5 ปีที่สอง (พ.ศ. 2566 – 2570) ด้านการบริหารจัดการขยะทะเลที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะรับไปปฏิบัติเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยอย่างยั่งยืนต่อไป นายปิ่นสักก์ กล่าว