วธ. เผยแผนพัฒนา Soft Power ปี 66-70 ดัน GDP สินค้าและบริการทางวัฒนธรรมจากร้อยละ 8.9 เป็นร้อยละ 15 และเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมสูงสุดในตลาดโลก 

ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “แนวทางสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ในมุมมองของกระทรวงวัฒนธรรม” ในการเสวนาหัวข้อ “นโยบายภาครัฐและความต้องการของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยสู่คอนเทนต์โลก กรณีศึกษา ด้านภาพยนตร์” ในเทศกาลหนังเมืองแคน ครั้งที่ 7 เมื่อเร็วๆนี้ ว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้เริ่มดำเนินการใช้ Soft Power ความเป็นไทยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน บนแนวคิดนำทุนวัฒนธรรมดั้งเดิม มาพัฒนาใส่ความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การขับเคลื่อนเป็น Soft Power ผ่านกลไกในการร่างแผนการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (2566-2570) ยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 4 (2566-2570) โดยตั้งเป้าหมายสัดส่วน GDP สินค้าและบริการทางวัฒนธรรมจากร้อยละ 8.9 เป็นร้อยละ 15 และเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมสูงสุดในตลาดโลก รวมถึงตั้งเป้าให้อันดับโลกด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีขึ้น ไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่อเที่ยววัฒนธรรมและการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของโลก

ปลัด วธ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับ Soft Power ความเป็นไทยที่ผ่านมา วธ. ได้พัฒนา ได้แก่ 5F อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) เทศกาลประเพณีไทย (Festival) และมีการพัฒนาเพิ่มเติมอีก คือ 5F พลัส ได้แก่ ท่องเที่ยวชุมชน ศิลปะการแสดง และศิลปะ ซึ่งในปี 2566 นี้ก็พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อพัฒนาผู้ที่มีทักษะด้านวัฒนธรรมให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้นใน 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ ได้แก่ 1. แฟชั่น 2. หนังสือ 3. ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ 4. เฟสติวัล 5. อาหาร 6. ออกแบบ 7. ท่องเที่ยว 8.เกม 9.ดนตรี 10. ศิลปะ และ 11.กีฬา โดยขณะนี้ได้มีร่างแผนการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (2566-2570) เป็นครั้งแรก อาทิ มีการศึกษาประเทศที่ประสบความสำเร็จด้าน Soft Power ศึกษาการตลาด พัฒนาบุคลากร ตามแผนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำไปใช้ขับเคลื่อนได้จริงและได้ทันที ซึ่ง Soft Power ความเป็นไทยที่มีศักยภาพ นอกจาก 5 F แล้วก็มี 5F+2 ได้แก่ ศิลปะการแสดง และความเชื่อ ตำนาน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาทิ เส้นทางท่องเที่ยวสายบุญ การจัดงานมหกรรมเชียงรายเบียนนาเล่ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนของการส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงนั้น จะต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ เพิ่มช่องทางการตลาดและการเจรจาธุรกิจ โดยการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามูลค่าทางเศรษฐกิจจากการเจรจาในต่างประเทศ อาทิ งานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ฝรั่งเศส มูลค่า 1,986 ล้านบาท เทศกาลภาพยนตร์ปักกิ่ง มูลค่า 1,976 ล้านบาท งาน Hong Kong International Film & TV Market มูลค่า 1,378 ล้านบาท งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว มูลค่า 500 ล้านบาท งานแสดงสินค้าลิขสิทธิ์นานาชาติฮ่องกง มูลค่า 93 ล้านบาท งานเทศกาลภาพยนตร์เซี่ยงไฮ้มูลค่า 5 ล้านบาท เป็นต้น โดย วธ. พร้อมให้ความร่วมมือทุกภาคีเครือข่ายในการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ไม่ว่าจะเป็นงบสนับสนุน พัฒนาบุคลากร ช่องทางการตลาด ที่สำคัญจะมีการศึกษาแนวทางความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศในการอบรมพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นกำลังสำคัญในอุตสาหกรรมบันเทิงในอนาคต