นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวมอบนโยบายในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การขับเคลื่อนแผนงานด้านการเกษตรต่างประเทศ” ให้กับอัครราชทูต อัครราชทูตที่ปรึกษา และกงสุล ทั้ง 11 แห่ง ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ภารกิจด้านการเกษตรต่างประเทศมีบทบาททั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการส่งเสริมความเข้มแข็งในกิจกรรมทุกระดับในห่วงโซ่มูลค่า โดยผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ นับว่ามีส่วนสำคัญในการส่งเสริมภาคเกษตรไทยให้เข้มแข็ง เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการกำหนดนโยบายและกฎระเบียบทางการค้าของแต่ละประเทศ นับเป็นความท้าทายในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลกที่ทุกภาคส่วนต้องรับมือ เพื่อรักษาฐานการตลาดเดิม สร้างโอกาสในการแข่งขันในตลาดใหม่ และลดผลกระทบกับภาคการเกษตรของไทย
“ประเทศไทยต้องสร้างบทบาทในเวทีโลก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยในเวทีโลกไม่สามารถแข่งขันกันด้วยปริมาณการค้าในรูปแบบเดิมอีกต่อไป แต่ต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยการเพิ่มมูลค่าสินค้า ซึ่งภาคการเกษตรของไทยจำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมกับประเทศที่มีศักยภาพ ผ่านความร่วมมือในทุกระดับ มุ่งเน้นการตลาดนำการเกษตร โดยหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานจะต้องทำงานเชื่อมโยงบูรณาการกันอย่างเต็มที่เพื่อประสานนโยบายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างทูตเกษตร และทูตพาณิชย์ ซึ่งได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นการเบื้องต้นแล้ว เพื่อหาแนวทางสนับสนุนขยายการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปต่างประเทศได้อย่างมีศักยภาพ โดยตั้งเป้าหมายว่า จะทำให้เกษตรกรรู้ว่าควรจะปลูกพืชชนิดใด โดยมีตลาดส่งออกที่แน่นอน” นายเฉลิมชัย กล่าว
ปัจจุบันรัฐบาลได้ประกาศนโยบายหลัก 12 ด้าน ซึ่งในด้านที่ 4 คือ การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก เพื่อให้ประเทศไทยมีบทบาทนำในการพัฒนาและสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ถือเป็นแนวทางที่รัฐบาลจะใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จึงได้กำชับให้หน่วยงานด้านการเกษตรต่างประเทศ ดำเนินงานสนองต่อ 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และทำงานเชิงรุกให้เกษตรกรไทยได้รับประโยชน์สูงสุด โดยมุ่งเน้นใน 4 ประเด็นหลัก คือ
- มุ่งเน้นความร่วมมือการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อรองรับความผันผวนเศรษฐกิจโลก โดยมุ่งขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยอย่างยั่งยืน
- เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านต่าง ๆ อาทิ การเปิดตลาดสินค้าเกษตรใหม่ “เป็ดปรุงสุก” ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะสามารถเปิดตลาดไปยังตลาดออสเตรเลียได้ การแสวงหาตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศ EEU (Eastern Economic Union) ได้แก่ รัสเซีย เบลารุส อาร์เมเนีย คีร์กิซสถาน คาซัคสถาน และประเทศตุรกี ตลอดทั้งการเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรไทยที่มีอนาคต เช่น สมุนไพร ขิง ขมิ้นสด ซึ่งเป็นสินค้าที่ศักยภาพสูงในอเมริกา โดยมีความต้องการนำเข้าถึง 240 ตันต่อปี เพื่อใช้สำหรับการบริโภคและผลิตยา ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกไปอเมริกาประมาณ 60 ตันต่อปี จึงเป็นพืชทางเลือกให้เกษตรกรไทยในอนาคต (อเมริกานำเข้าขมิ้นเกือบ 10,000 ตันต่อปี) นอกจากนี้ มะพร้าวน้ำหอม และสัปปะรดภูแล กุ้งต้มสุกแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์ประมง ก็ยังมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นในจีนด้วย นอกจากนี้ ยังได้มีการกำชับให้เร่งรัดการจัดทำพิธีสารกับคู่ค้าหรือมาตรการการส่งออกซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งให้สร้าง Demand สินค้าเกษตรของไทย ผ่าน Digital Platform เพื่อเชื่อมโยงตลาดเกษตรสินค้าเกษตรของไทยกับตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ ไทยต้องมีพืชส่งออกที่แน่นอน มีการวางแผนเพื่อให้เกษตรกรได้รู้ว่าปีหน้าควรจะปลูกพืชชนิดใด จึงจะมีตลาดรองรับ
- เผยแพร่ศาสตร์พระราชาและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งในภูมิภาคแอฟริกา หมู่เกาะแปซิฟิค
- การบูรณาการการทำงานทั้งในและนอกกระทรวงฯ โดยการดำเนินงานทุกเรื่องขอให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด