วันที่ 14 ธันวาคม 2566 นายอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล (ผอ.กอท.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโนบายการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้การท่องเที่ยวเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในวันหยุดยาวจะมีประชาชนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลนับว่าเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่าและสวยงาม เต็มไปด้วยสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ รวมถึงระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ติดอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้มีกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางไปสัมผัสความงามใต้ท้องทะเล ผ่านกิจกรรมดำน้ำดูปะการัง และท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ แต่ในทางกลับกันสิ่งเหล่านี้กลายเป็นผลกระทบทางอ้อม ที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์เข้าไปบุกรุก ทำลาย และรบกวนระบบนิเวศทางทะเล อาทิ การจับสัตว์ทะเลมาถ่ายรูป การเดินเหยียบปะการัง การทิ้งสมอเรือในแนวปะการัง รวมถึงการเข้าไปทำกิจกรรมในพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 สร้างความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมทางทะเล นอกจากนี้ ขยะมูลฝอยยังเป็นปัญหาที่สำคัญ เพราะทุกๆ ปี หลังจากช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลต่างๆ กรม ทช. จะพบขยะตามบริเวณชายหาด ชายฝั่ง ป่าชายเลน แม่น้ำ คูคลอง เกิดการสะสมและไหลลงสู่ทะเล จากสถิติของปีงบประมาณ 2566 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สามารถจัดเก็บขยะภายใต้กิจกรรมต่างๆ ร่วมกับหน่วยงาน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา บริเวณชายหาด ปะการัง และป่าชายเลน ตลอดจนจัดเก็บขยะโดยใช้ทุ่นกักขยะ และทุ่นดักขยะลอยน้ำ รวมทั้งสิ้น 633 ครั้ง 194 พื้นที่ ใน 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล สามารถจัดเก็บขยะที่ตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่งทะเลได้รวมทั้งสิ้น 261,233.95 กิโลกรัม รวมจำนวนขยะ 3,970,756 ชิ้น ซึ่งขยะทั้งหมดนี้เกิดจากพฤติกรรมที่มักง่ายของมนุษย์ไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา อันก่อให้เกิดเป็นไมโครพลาสติกขนาดเล็กที่สามารถเข้าไปปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์อีกด้วย
นายอุกกฤต ผอ.กอท. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ 2567 รัฐบาลได้เตรียมพร้อมรับมือในการดูแลประชาชนพร้อมกับเปลี่ยนสโลแกนจาก 7 วันอันตราย เป็น 7 วันแห่งความสุขของครอบครัว และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังตรวจตราและตักเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน อีกทั้งดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวทั้งทางบกและทางน้ำ โดยตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารและสิ่งก่อสร้าง สถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่ง ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล โดยสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 – 10 จัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 รวมทั้งสิ้น 35 แห่ง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานและบริการนักท่องเที่ยวประจำพื้นที่ชายหาดและสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรม ทช. เข้าปฏิบัติหน้าที่ประจำสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเล เช่น ท่าเทียบเรือ หรือชายหาด รวมถึงพื้นที่ป่าในเมืองและป่าชายเลนทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน อีกทั้งสนับสนุนอุปกรณ์ เช่น รถยนต์ 60 คัน เรือ 28 ลำ หรืออุปกรณ์ช่วยชีวิตอื่นๆ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ 496 คน ที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญในด้านการปฏิบัติงานทางทะเลคอยดูแลอย่างใกล้ชิดแก่นักท่องเที่ยว ตลอดจนแนะนำเส้นทางและจัดทำคู่มือแนะนำแหล่งท่องเที่ยว และแก้ไขปัญหาเบื้องต้นพร้อมให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวตามความต้องการทั้งทางบกและทางทะเล นอกจากนี้ กรม ทช. ขอมอบของขวัญในช่วงปีใหม่ให้กับประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ โดยการเปิดให้เข้าชมสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมในการเข้าชม ในวันที่ 1 มกราคม 2567 และในส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเข้าชมตามปกติ อีกทั้งเปิดให้เข้าไปพักผ่อนหย่อนใจในพื้นที่ป่าชายเลนในเมืองเพื่อการท่องเที่ยว 3 แห่ง ได้แก่ ป่าในเมืองจังหวัดพังงา ป่าในเมืองสวนรุกขชาติป่าชายเลนคลองละอุ่น จังหวัดระนอง และป่าในเมืองจังหวัดระนอง ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 – 1 มกราคม 2567 และแจกกล้าไม้ป่าชายเลนให้แก่ประชาชน ตลอดระยะเวลาปี พ.ศ. 2567 โดยประชาชนสามารถขอรับได้ที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 – 10 ตามวันและเวลาราชการ
อย่างไรก็ตาม กรม ทช. ได้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการขยะทะเลอย่างถูกวิธี รณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก หากต้องเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่ทางทะเล ควรนำถุงสำหรับใส่ขยะไปด้วย เพื่อเอาขยะที่เราใช้แล้วไปทิ้งภายนอกทุกครั้ง และที่สำคัญอย่าลืมแยกขยะเพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่หลงเหลือในแหล่งธรรมชาติ หากขยะเหล่านี้ไหลลงสู่ท้องทะเล สัตว์ทะเลหายากเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหารแล้วกินเข้าไป อาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพนำไปสู่การเกยตื้นตายได้ ฉะนั้น ปีใหม่นี้เรามาเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ ปกป้องทรัพยากรทางทะเล ลดภาระให้กับสิ่งแวดล้อมได้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป “นายอุกกฤต ผอ.กอท. กล่าวทิ้งท้าย”