สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนกรกฎาคม 2562

ภาพรวม

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกรกฎาคม 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.98 (YoY) เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่มากกว่าเดือนก่อนหน้า ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.87 ทั้งนี้ สินค้ากลุ่มอาหารสดยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น โดยสูงขึ้นร้อยละ 7.12 ซึ่งสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะผักและผลไม้ เนื้อสุกร ข้าวสารเหนียว และข้าวสารเจ้า ขณะที่สินค้ากลุ่มพลังงานยังคงหดตัว โดยลดลงร้อยละ 3.31 ซึ่งลดลงน้อยกว่าเดือนที่ผ่านมา ที่ลดลงร้อยละ 3.86 ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงาน) ขยายตัวร้อยละ 0.41 (YoY)

การสูงขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้ สอดคล้องกับยอดการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการขายสินค้าและการนำเข้าสินค้าอุปโภค รวมถึงรายได้เกษตรกร ที่สูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการบริโภคภายในประเทศ นอกจากนี้ การลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต ลดลงร้อยละ 1.2 (YoY) เดือนก่อนหน้าลดลงร้อยละ 1.1 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ของปี ตามการลดลงของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและสงครามทางการค้า ขณะที่ผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.6 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ตามการสูงขึ้นของราคาข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพด และยางพารา เป็นสำคัญ และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 2.0 (YoY) เดือนก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 0.8 ลดลงเป็นเดือนที่ 2 ของปี ตามการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก และหมวดซีเมนต์ สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่ลดลงเช่นกัน นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 (ระดับความเชื่อมั่น) เป็นเดือนที่ 2 ของปี อยู่ที่ระดับ 47.8 เดือนก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 48.1 ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ในช่วงความเชื่อมั่นที่ระดับ 51.4

สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนกรกฎาคม 2562

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกรกฎาคม 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.98 (YoY) ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 3.47 โดยเฉพาะผักสด สูงขึ้นร้อยละ 20.01 (มะนาว พริกสด มะเขือ) จากสภาพอากาศที่แปรปรวนมากกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้พืชผักเน่าเสียง่าย ประกอบกับราคาฐานปีที่ผ่านมาต่ำ ผลไม้สด สูงขึ้นร้อยละ 9.18 (ฝรั่ง มะม่วง ทุเรียน) เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 5.73  (เนื้อสุกร  ไก่สด ปลานิล) ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 4.02 โดยเฉพาะข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียว เนื่องจากปริมาณข้าวในสต๊อกมีน้อย ขณะที่ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 1.80 (ไข่ไก่ นมสด นมถั่วเหลือง) โดยเฉพาะไข่ไก่ปรับตามต้นทุน (ค่าขนส่งและอาหารสัตว์) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.90 (น้ำอัดลม กาแฟ (ร้อน/เย็น) เครื่องดื่มรสชอกโกแลต) อาหารบริโภค-ในบ้าน และนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.80 และ 1.12 ตามลำดับ (กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า ข้าวราดแกง) ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร ลดลงร้อยละ 0.93 (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ซอสหอยนางรม) หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.42 ตามการลดลงน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท (ยกเว้นก๊าซธรรมชาติ (NGV)) ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ 1.32 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ 0.87 โดยเฉพาะของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน) จากการแข่งขันทางการค้าเป็นสำคัญ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ 0.04 (รองเท้า เสื้อผ้าบุรุษและสตรี) ขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 5.91 หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.27 (ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.73 (ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.04

ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.06 (MoM) และเมื่อพิจารณาเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.92 (AoA)

ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนกรกฎาคม 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.2 (YoY) ตามการลดลงของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 2.3 ได้แก่ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และเม็ดพลาสติก ซึ่งลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลให้ความต้องการลดลง กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ (เส้นใยสังเคราะห์ ผ้าใยสังเคราะห์) ลดลงตามราคาวัตถุดิบและการกระตุ้นยอดขาย กลุ่มเยื่อกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ คำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศลดลง กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) เพื่อระบายสินค้ารุ่นเดิมให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งกลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ (เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กฉาก) สายไฟและสายเคเบิล ลดลงตามราคาวัตถุดิบ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 1.7 จากกลุ่มสินค้าน้ำมันปิโตรเลียมดิบและแร่โลหะ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม) ตามภาวะตลาดโลก ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.6 ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวเหนียวนาปรังลดลง ขณะที่ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง ยางพารา ปรับสูงขึ้นจากมาตรการส่งเสริมการใช้ยางของภาครัฐ พืชผัก (มะนาว แตงกวา มะเขือ พริกสด) จากสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้พืชผักบางชนิดออกสู่ตลาดน้อย ผลไม้ (กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน ทุเรียน ฝรั่ง) รวมทั้ง สุกร ไก่มีชีวิตและไข่ไก่ เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง ประกอบกับความต้องการมีเพิ่มขึ้น

ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2562 ลดลงร้อยละ 0.1 (MoM) และเมื่อพิจารณาเฉลี่ย 7 เดือน   (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2562  เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.4 (AoA)

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนกรกฎาคม 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.0 (YoY) จากการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 12.4 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดผูกเหล็ก) ตามราคาตลาดโลกที่ลดลงตามราคาวัตถุดิบ ประกอบกับความต้องการใช้ชะลอตัว หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.9 (โถส้วม อ่างล้างหน้า ที่ปัสสาวะ อุปกรณ์ห้องน้ำ) จากการปรับส่วนลดเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่าย หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.5 (ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม) หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 0.5 (ท่อร้อยสายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์พีวีซี ท่อพีวีซีและอุปกรณ์ ท่อระบายน้ำเสียพีวีซี) และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.4 (ยางมะตอย) ปรับราคาลดลงตามราคาปิโตรเลียม ในขณะที่ดัชนีราคาหมวดไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ สูงขึ้นร้อยละ 11.2 (ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน ไม้โครงคร่าว) จากไม้นำเข้าราคาสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 1.8 (เสาเข็มคอนกรีต คอนกรีตบล็อก คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ) ปรับตามราคาปูนซีเมนต์ผสม หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 2.1 (กระเบื้องบุผนัง-ปูพื้น กระเบื้องยางพีวีซีปูพื้น) หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.1 (สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูน)

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2562 ลดลงร้อยละ 0.6 (MoM) และเมื่อพิจารณา   เฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.3 (AoA)

สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม 2562

เงินเฟ้อในเดือนนี้ปรับสูงขึ้นเล็กน้อย โดยมีปัจจัยบวกคือสินค้าในกลุ่มอาหารสด เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนมากกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับราคาฐานปีที่ผ่านมาต่ำ ขณะที่ปัจจัยทอนคือน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปรับลดลงตามสถานการณ์ในตลาดโลก และส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิตที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม สัญญาณจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและการส่งออกที่ลดลง เป็นความกังวลว่า อาจจะส่งผลต่อรายได้และความต้องการในประเทศในระยะต่อไป แต่เมื่อพิจารณายอดการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการขายสินค้าและการนำเข้าสินค้าอุปโภคที่ขยายตัวได้ดี สะท้อนว่าความต้องการภายในประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่านโยบายของรัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตและมีเสถียรภาพ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศเคลื่อนไหวในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ ระหว่างร้อยละ 0.7-1.3 และเข้าสู่เป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ร้อยละ 2.5±1.5 (1.0 – 4.0)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

1  สิงหาคม 2562