สารประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม ประจำปี 2566

พรประไพ กาญจนรินทร์

“สิทธิมนุษยชน” คือสิทธิที่ติดตัวมากับมนุษย์ทุกคน เป็นสิทธิธรรมชาติที่ไม่มีใครพรากไปจากเราได้ มีความเป็นสากล ไม่มีพรมแดน และไม่แบ่งแยกด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ผิว เพศ ศาสนา ภาษา เผ่าพันธุ์ ทรัพย์สิน กำเนิด สถานะ หรือความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่นใด

ภายหลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 องค์การสหประชาชาติได้มีมติรับรอง “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 (ค.ศ. 1948) ปฏิญญาดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในเอกสารสำคัญที่สุดของโลกที่รับรองสิทธิและเสรีภาพของทุกคนในฐานะมนุษย์เฉกเช่นเดียวกันให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค เป็นธรรม และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ จากนั้นเป็นต้นมา ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนถูกนำไปใช้เป็นรากฐานของการวางระบบกฎหมายและนโยบายที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนแต่ละประเทศ ทั้งยังเป็นพื้นฐานสำคัญในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ แล้วมากกว่า 500 ภาษาทั่วโลก

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติ ตระหนักเป็นอย่างยิ่งถึงความสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนการเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย โดยปัจจุบัน กสม. มุ่งขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิผู้สูงอายุ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและดัชนีสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการพัฒนาแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล (International Human Rights Day) 10 ธันวาคม ประจำปี 2566 กสม. ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยร่วมกันผลักดันให้หลักสิทธิมนุษยชนสากลนี้สอดแทรกอยู่ในทุกมิติของการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่สังคมที่เคารพในศักดิ์ศรี เสรีภาพ และความยุติธรรมสำหรับทุกคน