กรมชลฯ โชว์นวัตกรรมช่วยบริหารจัดการน้ำ ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่

วันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน จังหวัดนครราชสีมา นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายณรงค์ มัดทองหลาง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน พร้อมผู้เกี่ยวข้อง นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน จังหวัดนครราชสีมา

นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้กำหนดนโยบายมุ่งเน้นการยกระดับประสิทธิภาพของพื้นที่ชลประทาน โดยการปรับปรุงระบบชลประทานเดิมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและการบริหารจัดการน้ำด้วยระบบ Internet of Thing (IoT) จัดทำแปลงต้นแบบ Smart farm พร้อมดำเนินการจัดรูปแปลงและปรับปรุงระบบส่งน้ำในไร่นา ให้เป็นแบบอัตโนมัติเพื่อบริหารจัดการน้ำและปุ๋ยสำหรับพืชตลอดฤดูกาลเพาะปลูก ส่งเสริมการทำนาเปียกสลับแห้ง ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่ที่ “ผลิตน้อย แต่สร้างรายได้มาก” เพื่อสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”

สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน จังหวัดนครราชสีมา ได้เริ่มดำเนินการส่งน้ำมาเป็นระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 มีแหล่งเก็บกักน้ำเขื่อนมูลบน ความจุเก็บกัก 141 ล้าน ลบ.ม. สามารถส่งน้ำพื้นที่ชลประทาน 45,798 ไร่ โดยประชาชนในพื้นที่โครงการส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยเป็นการปลูกข้าวเจ้า ร้อยละ 95 ของพื้นที่ ในส่วนที่เหลือมีการปลูกอ้อยข้าวโพดและมันสำปะหลัง เป็นต้น กรมชลประทาน มีแนวทางการปรับปรุงโครงการฯ แบบมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง อาทิ การประยุกต์ใช้ระบบ Internet of Thing (IoT) การจัดทำฐานข้อมูลระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยการตัดสินใจเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ผ่านแพลตฟอร์ม “RID มีสุข” การขยายผลระบบการจัดการเพาะปลูกอัจฉริยะ (Smart Farm) และแบบมาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง อาทิ การปรับปรุงซ่อมแซมดาดคอนกรีตคลองส่งน้ำ ปรับปรุงและเพิ่มอาคารชลประทาน เพื่อช่วยในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนงานที่จะขยายผลการดำเนินงานไปทุกพื้นที่ชลประทานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเดิม โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ระบบ (IoT) เพื่อช่วยในการควบคุมปริมาณน้ำ ส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้น้ำตั้งแต่หัวงานชลประทานจนถึงแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรเพื่อมุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำในภาคการเกษตรต่อไปในอนาคต