วันที่ 8 ธันวาคม 2566 เวลา 10.30 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานรับมอบชุดเครื่องดนตรีเพื่อประกอบการแสดงความสามารถ จากบริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด โดย ดร.พีรวัฒน์ ชูเกียรติ กรรมการผู้จัดการ และนายพรเทพ ภูมิพฤกษ์ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายสินค้าเครื่องดนตรี และมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย โดย นายนิกร จำนง กรรมการและเหรัญญิก เพื่อมอบให้ นางสาวพิมพ์ชนก เต็มใจ (น้องพิมมี่) หญิงสาวพิการทางสายตา ที่ร้องเพลงเปิดหมวกเพื่อหาเงินจุนเจือครอบครัว แต่ถูกชายสูงวัยต่อว่าเรื่องเสียงดังรบกวน ขณะเล่นดนตรีเปิดหมวกบริเวณห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ย่านรัชดา กรุงเทพฯ โดยมี นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกระทรวง พม. ผู้แทนสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เข้าร่วมงาน ณ บริเวณโถง ชั้น 1 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. สะพานขาว กรุงเทพฯ
สำหรับชุดเครื่องดนตรีเพื่อประกอบการแสดงความสามารถที่มอบให้ นางสาวพิมพ์ชนก เต็มใจ (น้องพิมมี่) ประกอบด้วย 1) คีย์บอร์ดไฟฟ้า YAMAHA รุ่น PSR-SX600 มูลค่า 33,500 บาท 2) กระเป๋าคีย์บอร์ด 20KBH High-end มูลค่า 1,200 บาท และ 3) ฟุตสวิทย์คีย์บอร์ด FC4A มูลค่า 1,200 บาท และมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย สนับสนุนอุปกรณ์เพิ่มเติม ดังนี้ 1) เก้าอี้เปียโน Klaw DSB-YM618 Black 1 ตัว มูลค่า 1,090 บาท 2) ไมโครโฟนไดนามิค Shure-SM58LC-Black 1 ตัว มูลค่า 4,390 บาท 3) ไมโครโฟนไร้สาย IONYX#ECHO1 1 ตัว มูลค่า 2,590 บาท 4) ขาตั้งคีย์บอร์ดคู่ Klaw Q2X Black 1 ชิ้น มูลค่า 590 บาท และ 5) สายสัญญาณ XLR-DM CABLE-XLR FEMALE TO TS 5M-BLACK 1 เส้น มูลค่า 400 บาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 44,960 บาท
นายวราวุธ กล่าวว่า ขอขอบคุณ บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด ที่ได้นำสิ่งดีๆ มามอบให้กับน้องพิมมี่ ซึ่งเราไม่ได้ทำบุญให้กับน้องพิมมี่ แต่ถือว่าได้ทำให้กับสังคมโดยรวมด้วย ที่จะได้รับฟังเสียงดนตรีที่ไพเราะ และต้องบอกว่าชนใดไม่มีดนตรีกาล โดยสันดานเป็นคนชอบกลนัก ซึ่งเป็นบทประพันธ์ของรัชกาลที่ 6 ถือว่าการที่น้องพิมมี่ได้มอบสิ่งดีๆ ให้กับสังคมไทย ด้วยการแสดงศักยภาพของคนพิการให้คนทั่วไปได้ประจักษ์นั้น ตนถือว่าตรงกับสิ่งที่กระทรวง พม. เราทำอยู่ เพราะเราเชื่อเสมอว่าคนพิการไม่ใช่ผู้ด้อยโอกาส แต่เป็นผู้ที่มีศักยภาพ ซึ่งบางครั้งอาจจะมากกว่าคนทั่วไปเสียอีก เพียงแต่หลายฝ่ายอาจจะยังไม่ได้หยิบยื่นโอกาสให้กับคนพิการเหล่านั้น ดังนั้น จึงต้องขอบคุณอีกครั้งสำหรับ บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด และมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ที่ยื่นโอกาสให้คนพิการได้แสดงศักยภาพต่อสาธารณชนได้เห็น อย่างไรก็ตาม ตนรู้สึกดีใจที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อนุญาตให้กลุ่มคนพิการมีพื้นที่บริเวณสยามสแควร์ ในการแสดงศักยภาพ ซึ่งนับเป็นโอกาสมากขึ้นกว่าในอดีตที่ไปแสดงตามชุมชน ตลาดนัด ดังนั้น หากไปเล่นที่สยามสแควร์ได้ จะเท่ห์มากขึ้น เพราะคนพิการอยากแสดงความสามารถด้วยกันทั้งนั้น
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ตนได้มอบหมายให้อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) หารือร่วมกับอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งตนได้พูดคุยกับอธิบดีกรมอุทยานฯ ในเบื้องต้นแล้วว่าจะเปิดพื้นที่ให้คนพิการและผู้มีความสามารถที่มีบัตรประจำตัวในการแสดงความสามารถในที่สาธารณะ ไปแสดงในอุทยานแห่งชาติได้ทั่วประเทศ โดยอธิบดีกรมอุทยานฯ ให้คำมั่นมาว่าไม่ขัดข้อง อยากขอให้ทุกคนลองนึกภาพดูว่าในอุทยานเขาใหญ่ หากมีดนตรีเล่นให้กับนักท่องเที่ยวได้รับฟัง นับเป็นการส่งเสริมศักยภาพและให้โอกาสแก่คนที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งตรงกับชื่อของกระทรวง พม. โดยสังคมไทยหรือสังคมใดนั้น จะมีมาตรฐานที่ดีหรือไม่ดีได้นั้น ขึ้นอยู่กับดนตรีและศิลปะ การที่น้องพิมมี่นำดนตรีมาให้สังคมได้ฟัง ถือเป็นการยกระดับจิตใจให้ผู้คนในสังคม ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งมากมาย เชื่อว่าเสียงดนตรีจะได้ขัดเกลาความรู้สึกของคนหลายๆ กลุ่ม แม้ว่าอาจจะมีบางคนที่ไม่ชอบแล้วมาไล่นั้น เพราะอย่างที่ นางสาวกัญจนา ศิลปะอาชา ที่ปรึกษาศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) เคยระบุไว้ว่า นั่นเป็นปัญหาของเขาไม่ใช่ปัญหาของเรา อย่างไรก็ตาม จากวันนี้จะเป็นสัญญาณให้ทุกคนเห็นว่าสังคมไทยจะเดินไปข้างหน้าได้ โดยที่เราต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นายนิกร กล่าวว่า ตนในฐานะที่ปรึกษาศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) กระทรวง พม. ได้รับเรื่องร้องเรียนผู้ประสบปัญหาทางสังคมต่างๆ และกรณีนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างเคสคนพิการที่มีความสามารถต้องการพื้นที่ในการแสดงความสามารถ ซึ่งหลังจากได้รับทราบเรื่องราว ได้ดำเนินการช่วยเหลือมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน โดยความร่วมมือ ทั้งทีม พม. หนึ่งเดียว จังหวัดนนทบุรี ภาครัฐ และภาคเอกชน เราต้องการให้เห็นว่าคนพิการยังได้รับการดูแล ซึ่งต้องขอชื่นชมคนพิการทั้งสองคนที่ดูแลตนเองได้เป็นอย่างดี และมีความตั้งใจในการพัฒนาความสามารถอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีคนพิการอีกจำนวนมากในประเทศไทย ที่ต้องดูแลตนเอง วันนี้ เราต้องการทำงานกับสังคมให้เป็นหนึ่งเดียว นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมากในการร่วมกันช่วยเหลือกรณีดังกล่าว และต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันในครั้งนี้ ทั้งนี้ หากประชาชนประสบปัญหาทางสังคม สามารถขอความช่วยเหลือมาที่ ศรส. กระทรวง พม. ผ่านสายด่วน พม. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง
นางจตุพร กล่าวว่า ผู้แสดงความสามารถ คือ ผู้ที่ได้ทำการจดแจ้งเป็นผู้แสดงความสามารถ เพื่อแสดงแก่ผู้ชม ผู้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรี หรือการแสดงอื่นใด ซึ่งทำให้ผู้ชมหรือผู้ฟังเกิดความพึงพอใจต่อการแสดงนั้น โดยส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินให้เป็นการตอบแทน ซึ่งตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 มาตรา 14 ได้กำหนดแนวปฏิบัติสำหรับผู้แสดงความสามารถว่าผู้ใดประสงค์จะเป็นผู้แสดงความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรีหรือการแสดงอื่นใด ตามมาตรา 13 วรรคสาม ให้ผู้นั้นแจ้งเพื่อเป็นผู้แสดงความสามารถตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด และเมื่อจะแสดงความสามารถในพื้นที่ใด ให้แจ้งต่อพนักงานท้องถิ่นในเขตพื้นที่นั้น เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตพื้นที่ได้รับแจ้งแล้ว ให้ออกใบรับแจ้งไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตพื้นที่ประกาศเป็นการทั่วไปเพื่อกำหนดเขตพื้นที่หรือสถานที่ใดอันเป็นที่สาธารณะ วันเวลา การใช้อุปกรณ์ หรือสิ่งอื่นใด สำหรับใช้ในการแสดงความสามารถ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้แสดงความสามารถจดแจ้งขอมีบัตรแล้ว จำนวน 10,454 ราย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการประกาศพื้นที่แสดงความสามารถ และอนุญาตให้ผู้แสดงความสามารถไปทำการแสดง จำนวน 1,258 พื้นที่ แบ่งเป็น ต่างจังหวัด จำนวน 1,187 พื้นที่ และกรุงเทพมหานคร จำนวน 71 พื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับผู้แสดงความสามารถ จึงได้มีนโยบาย 1 จังหวัด 1 พื้นที่สร้างสรรค์ผู้แสดงความสามารถ โดยให้ทุกจังหวัดพิจารณาพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับผู้แสดงความสามารถ ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เพื่อให้ผู้แสดงความสามารถที่มีศักยภาพได้ทำการแสดง และมีรายได้มากขึ้น ตลอดจนเป็นการส่งเสริมคุณค่า และเปิดโอกาสให้สังคมสนับสนุนผู้แสดงความสามารถมากขึ้น สำหรับพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการสนับสนุนพื้นที่ให้กับผู้แสดงความสามารถ โดยเดือนธันวาคม 2566 สามารถแสดงได้ในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 เวลา 17.00 – 20.00 น. สำหรับในเดือนต่อๆ ไป ทางสำนักงานทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะแจ้งวันเวลาให้ทราบภายหลัง ส่วนต่างจังหวัด อยู่ระหว่างการรวบรวมพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันได้มีการประสานเพื่อเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ผู้แสดงความสามารถแล้ว จำนวน 70 จังหวัด
#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม #esshelpme #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พม.หนึ่งเดียว #พม #ผู้แสดงความสามารถ #คนพิการ #ศรสปอร์ตบราพาปัง