กรมชลประทาน สร้างความรู้และความเข้าใจ ช่วยเกษตรกรปรับตัวรับมือความผันผวนสภาพภูมิอากาศอย่างสมดุล

วันที่ 8 ธันวาคม 2566 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ (หลักสูตรระดับปฏิบัติการ) โดยมี นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ นายไพฑูรย์ ศรีมุก รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา นางสาวลภิณโกฬร์ จาตะวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์เศรษฐกิจโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ นายอัตตพันธ์ ดิลกโศภณ ผู้อำนวยการส่วนโครงการเงินกู้และกิจการต่างประเทศ ผู้แทนสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) เจ้าหน้าที่ในผลลัพธ์ที่ 3 และผู้รับการฝึกอบรม เข้าร่วมพิธีเปิด ณ โรงแรม ดิ อิมพีเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากความร่วมมือระหว่างกรมชลประทานกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) และกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund : GCF) ภายใต้การดำเนินโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันฯ ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายสำหรับดำเนินการโครงการฯ ในเขตพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน สำนักงานชลประทานที่ 3 ครอบคลุมพื้นที่ 7 อำเภอ ใน 3 จังหวัด ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน (จังหวัดพิษณุโลก, จังหวัดสุโขทัย, จังหวัดอุตรดิตถ์) จะทำให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการ มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ดีมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้กับเกษตรกรเพื่อรองรับการปรับตัวผ่านเทคโนโลยี และสามารถดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับบริบทของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม

กรมชลประทาน โดยสำนักบริหารโครงการ จึงได้จัดอบรมเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าเป็นกลไกหลักที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานสู่กลุ่มเป้าหมายระดับตำบล/หมู่บ้าน เพื่อให้มีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว สามารถนำไปถ่ายทอดและกำหนดทิศทางของการปฏิบัติให้กับเกษตรกรได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีวิถีชีวิตที่ดี สามารถดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้สภาพความผันผวนของภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีรายได้เพียงพอ สามารถพึ่งพาตนเองและชุมชนได้อย่างยั่งยืน