‘ม.วลัยลักษณ์-ซีพีเอฟ’ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ พัฒนา 2 หลักสูตร ด้านเทคโนโลยี-นวัตกรรม ปั้นบัณฑิตใหม่ รับโลกแห่งอนาคต

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) พัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต 2 สาขา ของสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ 1.) สาขาเกษตรศาสตร์และนวัตกรรม 2.) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์อาหารและนวัตกรรม ภายใต้โครงการ Co-Creation Program เสริมทักษะนักศึกษาด้วยความรู้ STEM 4 ด้าน ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงในสถานประกอบการของซีพีเอฟ เพื่อผลิตบัณฑิตคุณภาพตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและตลาดแรงงาน โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ ร่วมลงนาม พร้อมด้วย นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์บก นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ และคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยฯ

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้โลกกำลังเข้าสู่ยุค 5.0 ทุกภาคส่วนต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทาย รวมถึงภาคการศึกษา มหาวิทยาลัยฯ จึงมุ่งเน้นงานวิจัยและบริการวิชาการ ควบคู่กับการผลิตบัณฑิตที่มีทักษะแห่งอนาคต ให้มีศักยภาพสูง ขอขอบคุณซีพีเอฟสำหรับความร่วมมือกันในครั้งนี้ ถือเป็นการมอบโอกาสดีๆ ให้แก่คนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของอุตสาหกรรมอาหารและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันบนเวทีโลก ในช่วงแรกนำร่องพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต 2 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาเกษตรศาสตร์และนวัตกรรม และ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์อาหารและนวัตกรรม รวมทั้งจะขยายความร่วมมือไปสู่หลักสูตรอื่นๆ อาทิ วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ให้สอดรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่อไป

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจร ยึดมั่นในหลักปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน คือ ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และบริษัท ทั้งนี้ทรัพยากรบุคคลเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับธุรกิจให้ก้าวหน้า ซึ่งการผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาและการวิจัย รวมทั้งผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจและตลาดแรงงาน โดยบูรณาการองค์ความรู้มิติต่างๆ และการปฏิบัติงานจริง เรียนรู้การทำงาน การแก้ปัญหาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของซีพีเอฟ สร้างคนดีและคนเก่ง ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

สำหรับ ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการพัฒนาหลักสูตรแบบ Co-Creation Program เน้นความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับบริษัทเอกชน ในรูปแบบ Work-Based Learning (WBL) ทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติจริง รวมทั้งเสริมทักษะและความรู้ STEM 4 ด้าน ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) โดยคณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มธุรกิจต่างๆ ของซีพีเอฟ เพื่อสร้างโอกาสและขีดความสามารถผลิตบันฑิตพร้อมใช้ (Ready to Use)

ที่ผ่านมา ทั้ง 2 องค์กร มีความร่วมมือด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการฟาร์มสาธิตสุกรขุนและไก่ไข่ ระบบปิดอัตโนมัติ (Green Farm) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตสัตว์ครบวงจรด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ให้แก่นักศึกษา เกษตรกร และชุมชน