วันที่ 6 ธันวาคม 2566 เวลา 11.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) แถลงข่าวผลการประชุมผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประจำเดือนธันวาคม 2566 ณ บริเวณโถงชั้น 1 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ
นายวราวุธ กล่าวว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ที่ผ่านมา ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน ในเบื้องต้นมีการเห็นชอบโครงการฯ ในโซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 20 จังหวัด เนื่องจากในพื้นที่ 20 จังหวัดนี้ มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุมากถึง 4 ล้านคน จากทั่วประเทศ 12.8 ล้านคน ถ้าเทียบเป็นร้อยละแล้วมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 30 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในประเทศไทย ทั้งนี้ แนวทางที่กระทรวง พม. ได้เสนอนั้น และที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบในหลักการ และให้ทำเป็นโครงการนำร่องในปี 2567 ซึ่งมีจังหวัดนำร่อง 12 จังหวัด ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนครปฐม พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี สงขลา เชียงใหม่ สกลนคร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ปัตตานี เพชรบุรี เชียงราย และสิงห์บุรี ซึ่งกระทรวงฯ จะเข้าไปดูแลสิทธิของผู้สูงอายุใน 5 มิติ ดังนี้ มิติที่ 1 ด้านสุขภาพ ดูแลในเรื่องการป้องกัน เพื่อแบ่งเบาภาระด้านสาธารณสุข ถ้าเราป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุป่วยติดเตียง ภาระทางด้านสาธารณสุขและบุคลากรในการดูแลจะลดลงไป โดยเฉพาะด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย การดูแลทางสุขภาพกายและสุขภาพใจ มิติที่ 2 ด้านสังคม มุ่งเน้นให้ครอบครัวกลับมามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับผู้สูงอายุในชุมชน มิติที่ 3 ด้านเศรษฐกิจ ต้องดึงศักยภาพของผู้สูงอายุมาพัฒนาในการสร้างรายได้ การทำการเกษตร หัตถกรรม และด้านศิลปะ หรือการเป็นมัคคุเทศก์ในพื้นที่ นับเป็นการส่งเสริมกิจกรรมและสร้างรายได้ในกลุ่มผู้สูงอายุ มิติที่ 4 ด้านสภาพแวดล้อม การปรับพื้นที่บ้าน ที่พักอาศัย และชุมชน ให้ตอบโจทย์กับผู้สูงอายุ รวมไปถึงคนพิการด้วย ในลักษณะ Universal Design หรืออารยสถาปัตย์ และมิติที่ 5 ด้านเทคโนโลยี เป็นการสร้างความรู้และความเข้าใจแก่ผู้สูงอายุ ในการเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ และการป้องกันภัยที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี อาทิ Call center หลอกลวง การกดลิงค์ต่างๆ แล้วเสียเงิน ซึ่งทั้ง 5 มิตินี้ จะอยู่ในโครงการนำร่องที่กระทรวง พม. จะเริ่มทดลอง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อทดลองแล้ว จะสามารถขยายผลไปยังผู้สูงอายุทั่วประเทศ
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ตนได้ขอให้ปลัดกระทรวง พม. เร่งดำเนินการ คือ เมื่อพี่น้องข้าราชการกระทรวง พม. ได้เร่งแก้ปัญหาให้กับประชาชนทั่วประเทศแล้ว พี่น้องข้าราชการกระทรวง พม. ควรจะต้องได้รับการดูแลเช่นกัน จึงได้ขอให้ปลัดกระทรวง พม. ไปดำเนินการตรวจสอบและประสานงานกับทุกกรมและทุกหน่วยงานของกระทรวงฯ ว่าพี่น้องข้าราชการ ลูกจ้างประจำ หรือลูกจ้างชั่วคราว นั้น ปัจจุบันมีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบอย่างไร มีอยู่ปริมาณมากน้อยเพียงใด เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องข้าราชการกระทรวง พม. เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนต่อไป เพราะในเมื่อแก้ไขปัญหาให้คนอื่นแล้ว เราต้องแก้ไขปัญหาของตัวเองด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นสวัสดิการและขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีข้อมูล แต่เชื่อว่าตัวเลขคงไม่น้อย หากเทียบเป็นสัดส่วนจำนวนหนี้ต่อคน คงไม่แตกต่างกับอีกหลายกระทรวง ทั้งนี้ ในเบื้องต้นขอให้ได้ข้อมูลมาดูก่อนว่า มูลหนี้ทั้งหมดมีเท่าไหร่ จากนั้นคงต้องมีการหารือกับสถาบันการเงิน ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะเป็นสถาบันการเงินแห่งไหน เพื่อดูแนวทางว่าอาจจะลดดอกเบี้ย หรือแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้อย่างไร
นายวราวุธ กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ประชุมยังมีการหารือถึงการแก้ไขปัญหาขอทานในประเทศไทย โดยให้ปลัดกระทรวง พม. เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมคณะกรรมการควบคุมการขอทานโดยเร็วที่สุด คาดว่าน่าจะสิ้นปีนี้ หรือต้นปีหน้า ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยว่าต้องมีการปรับปรุง พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 เพราะมีการใช้กฎหมายดังกล่าวมานานแล้ว ซึ่งวันนี้ ปัญหาขอทานที่ยังไม่สามารถกำจัดออกไปจากสังคมไทยได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจกระทรวง พม. ในการกักขัง หรือบังคับฟื้นฟูศักยภาพ ฝึกอาชีพ ต้องให้เป็นความสมัครใจเท่านั้น ดังนั้น เมื่อมีการจับกุม หากไม่สมัครใจก็ต้องปล่อยตัว และเมื่อออกมาแล้วก็จะทำการขอทานเหมือนเดิม จึงเป็นเหตุให้ประชาชนยังพบเห็นขอทานอยู่ อย่างไรก็ตาม วิธีที่จะแก้ไขปัญหาขอทานได้เร็วที่สุด คือขอให้พี่น้องประชาชนหยุดให้ทานกับขอทาน ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่ากฎหมายของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับขอทาน ให้อำนาจกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ ให้อำนาจกับกระทรวง พม.อย่างไรบ้าง เพราะหากประชาชนยังไม่เข้าใจ คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ถูกจุด
ทั้งนี้ ช่วงปีใหม่ อาจจะมีการฉวยจังหวะเข้ามาขอทานมากขึ้น ซึ่งกระทรวง พม. อยากจะเร่งดำเนินการจับกุม แต่เห็นใจเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยเช่นกัน เพราะกระทรวง พม. ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เมื่อจับกุมแล้ว เราไม่มีอำนาจกักขัง บังคับฟื้นฟู ก็ต้องปล่อยตัวไป ซึ่งต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ เพราะว่าเป็นคนเดิมๆ จับกุมแล้ว จับกุมอีก เพราะเราไม่สามารถบังคับให้ขอทานเข้าสู่ระบบการฟื้นฟูศักยภาพ ฝึกอาชีพได้ ถ้าหากเราสามารถบังคับได้ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ดังนั้น ต้องเชื่อมโยงไปถึงการแก้ไขกฎหมายที่ให้อำนาจในการดำเนินการต่างๆ
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) หรือ HuSEC โดยพบปัญหาส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงในครอบครัว ที่มักเกิดขึ้นกับเด็ก สตรี ซึ่งในเดือน พ.ย. 66 มีการแจ้งปัญหาเข้ามา จำนวน 294 กรณี มีผู้เสียหายหรือถูกกระทำ จำนวน 332 ราย แบ่งเป็นปัญหาครอบครัว จำนวน 216 ราย คิดเป็นร้อยละ 65 ผู้ถูกกระทำมากที่สุดเป็นเด็ก จำนวน 150 ราย ส่วนพื้นที่เกิดปัญหามากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร ดังนั้น ตนจึงได้มอบหมายว่า ในระยะสั้นจะต้องเพิ่มศักยภาพการทำงานของบุคลากรใน ศรส. และเพิ่มความรวดเร็วในการเข้าถึงและแก้ปัญหา ส่วนระยะยาวจะเร่งรัดเรื่องการปรับแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งคณะทำงานด้านกฎหมายที่มี นายนิกร จำนง เป็นประธานคณะที่ปรึกษา จะไปเร่งรัดดำเนินการ
“เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของสังคมไทยที่อยู่ในระดับครอบครัว ดังนั้น แนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมต้องเริ่มแก้ไขปัญหาจากภายในครอบครัว ซึ่งแนวทางแก้ไขของกระทรวง พม. คือต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็งมากที่สุด เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งในระดับสังคมต่อไป” นายวราวุธ กล่าวในตอนท้าย
#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม #esshelpme #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พม.หนึ่งเดียว