รองนายกฯ “ฉัตรชัย” เผยความก้าวหน้าเสนอร่างกฎกระทรวง 4 กระทรวงหลัก ตาม พรบ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559

วันที่ 1 มิถุนายน 2561 พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ครั้งที่ 2/2561 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยสาระสำคัญคือความก้าวหน้าของการเสนอร่างกฎกระทรวง ออกตามความในพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเสนอร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ทั้ง 4 กระทรวงหลักนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวง        4 ฉบับ เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการส่งร่างกฎกระทรวงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยัน ดังนี้  1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและดำเนินการของสถานศึกษาในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. ….  2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานบริการและการดำเนินการของสถานบริการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. ….  3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และการดำเนินการของสถานประกอบกิจการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแก่ลูกจ้าง พ.ศ. ….  และ 4. ร่างกฎกระทรวงการจัดสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. ….

 

“ทั้งนี้ เมื่อร่างกฎกระทรวงแต่ละฉบับมีผลบังคับใช้จะส่งผลดีต่อวัยรุ่น โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการจะช่วยให้วัยรุ่นที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ได้รับความรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต หากตั้งครรภ์จะได้รับการดูแลช่วยเหลือ และส่งต่ออย่างเหมาะสม ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขจะช่วยให้วัยรุ่นได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ บริการอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ได้มาตรฐาน การรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว รวมทั้งการช่วยเหลือส่งต่ออย่างเหมาะสม ขณะที่ในส่วนของกระทรวงแรงงานจะช่วยให้ลูกจ้างวัยรุ่นได้รับข้อมูลข่าวสารความรู้ การสนับสนุนการเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาอนามัยการเจริญพันธุ์และสวัสดิการสังคมบนพื้นฐานการตัดสินใจด้วยตนเอง การรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว และสำหรับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะช่วยให้วัยรุ่นได้รับการสนับสนุนให้มีการสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชนเพื่อเป็นแกนนำป้องกันแก้ไขและเฝ้าระวังปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้รับการให้คำปรึกษาช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาตั้งครรภ์ คลอดบุตร ที่พักพิง เงินช่วยเหลือเพื่อเลี้ยงดูบุตร การหาครอบครัวทดแทน การฝึกอาชีพ รวมทั้งการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาและสิทธิอื่นตามกฎหมาย” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

 

ทางด้าน นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ได้บูรณาการการดำเนินงานให้มีความเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายในปี 2569 คือ อัตราการคลอดมีชีพในหญิงอายุ 15-19 ปี จากเดิมร้อยละ 42.5 ลดลงไม่เกินร้อยละ 25 และอัตราการคลอดมีชีพในหญิงอายุ 10-14 ปี จากเดิม  ร้อยละ 1.4 ลดลงไม่เกินร้อยละ 0.5 ซึ่งผลการดำเนินงานในช่วงระยะเวลา 2 ปี ตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560 – 2569 พบว่า ยุทธศาสตร์ที่ 1 ได้มีการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตในการศึกษาทุกระบบ พัฒนาระบบ E-learning พัฒนาศักยภาพครูผู้สอนและครูที่ปรึกษาและจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษานักเรียน โดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพหลัก  ยุทธศาสตร์ที่ 2 และ 4 ได้ดำเนินงานส่งเสริมบทบาทศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน พัฒนาหลักสูตรและวิทยากรสื่อสาร เรื่องเพศ พัฒนาช่องทางการสื่อสาร และเสริมสร้างศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนระดับตำบล รวมทั้งดำเนินการ  จัดให้มีบ้านพักเด็กและครอบครัว ศูนย์รักเด็กการให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด จัดหาครอบครัวทดแทน และสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชน DJ Teen ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นเจ้าภาพหลัก  ยุทธศาสตร์ ที่ 3 และ 5 ได้ดำเนินการพัฒนาคลินิกที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน  การให้บริการคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับวัยรุ่น  มีระบบส่งต่อเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย มีบริการสายด่วน 1663 และ 1323 เพื่อให้คำปรึกษาและการผลักดันให้สถาบันการศึกษาสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก และมหาวิทยาลัยราชภัฏจัดการสอนหลักสูตรอนามัยการเจริญพันธุ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนดำเนินการพัฒนาเว็บไซต์กลาง และฐานข้อมูลอนามัยการเจริญพันธุ์สนับสนุนการทำวิจัยและจัดการความรู้ โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลัก  อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์พบอุปสรรคสำคัญคือ การบูรณาการงานระหว่างกระทรวง และการติดตามประเมินผลตามตัวชี้วัด  ดังนั้น จึงมีแผนที่จะทบทวนปรับปรุงแผนปฏิบัติการและกำหนดตัวชี้วัดให้สอดคล้อง โดยจัดทำ       คำชี้แจงให้ชัดเจนเพื่อติดตามประเมินผลการทำงานในระดับพื้นที่ต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้  1. ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดให้มีการประเมินความรู้เรื่องเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต ในการประเมินทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานในแต่ละช่วงชั้นทุกปี และแจ้งให้นักเรียนทุกคนทราบผ่านโรงเรียน  2. เร่งรัดให้คณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร จัดทำแผนปฏิบัติการจังหวัดให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตผ่าน DJ Teen                  3. ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาออกกฎกระทรวง เพื่อสนับสนุนและเสริมพลังบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น