เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา เรือตรวจการประมง 1001(สมุย) ได้รับแจ้งจากศูนย์ควบคุมการทำการประมงให้เข้าทำการตรวจสอบเรือศิริพงษ์ 25 ซึ่งเป็นเรือประมงอวนล้อมจับ ขนาด 99.96 ตันกรอส ที่ทำการประมงอยู่ในทะเล และเมื่อเดินทางจุดที่มีสัญญาณ VMS ของเรือศิริพงษ์ 25 ซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเชีย ห่างจากปากร่องน้ำจังหวัดปัตตานี 120 ไมล์ทะเล กลับไม่พบเรือศิริพงษ์ 25 เเต่กลับพบเรือปั่นไฟชื่อเรือเอกสิริลาภ 41 ขนาด 25.42 ตันกรอส ลอยลำอยู่ และเมื่อเข้าทำการตรวจสอบปรากฏว่าพบอุปกรณ์ vms ของเรือศิริพงษ์ 25 ติดตั้งอยู่บนเรือปั่นไฟลำดังกล่าว จึงได้ควบคุมเรือเอกสิริพงษ์ 41 เข้าฝั่งเพื่อดำเนินคดี และได้แจ้งเจ้าของเรือให้นำเรือศิริพงษ์ 25 กลับเข้าเทียบท่า เนื่องจากในขณะนั้นไม่ทราบว่าเรือลำดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ใด และเมื่อเรืออวนล้อมลำดังกล่าวถูกเรียกกลับเข้าท่าในเรือประมงลำดังกล่าวพบว่ามีสัตว์น้ำอยู่ในเรือจำนวน 2,700 กิโลกรัม จึงได้แจ้งข้อหาและดำเนินคดี
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System; VMS) เป็นระบบอิเล็กโทรนิกส์ที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณตำแหน่งของเครื่อง VMS ซึ่งติดตั้งในเรือประมงผ่านระบบดาวเทียมศูนย์ควบคุมการทำการประมง และเจ้าของเรือประมง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเรือประมงทำการประมงถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีพฤติกรรมที่ละเมิดกฎหมาย ซึ่งได้มีการนำติดตั้งระบบดังกล่าวมาใช้กับเรือประมง ทั้งที่ทำการประมงในน่านน้ำ และในทะเลสากล โดยองค์กรบริหารจัดการประมงในภูมิภาคที่ดูแลการประมงในน่านน้ำสากลได้กำหนดให้เรือประมงที่เข้าไปทำการประมงต้องติดตั้งระบบ VMS ซึ่งเป็นความรับผิดขอบของ “รัฐเจ้าของธง” และในขณะเดียวกันประเทศที่มีกองเรือขนาดใหญ่และมีขีดความสามารถในการทำการประมง เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่ประเทศที่ให้เรือประมงต่างชาติเข้าไปทำการประมงในน่านน้ำตนเอง เช่น ปาปัวนิวกินี พม่า ก็ได้นำระบบ VMS เข้ามาใช้เพื่อควบคุมการทำประมงของเรือประมงเช่นกัน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของประเทศในฐานะ “รัฐเจ้าของธง” และ “รัฐชายฝั่ง”
การประมงทะเลไทยในอดีตมีปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลานาน ทั้งปัญหาการประมงในน่านน้ำในประเด็นความขัดแย้งระหว่างชาวประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์ ที่เกิดเนื่องจากเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ลักลอบเข้าไปทำการประมงในเขตชายฝั่ง จนทำให้เกิดความเสียหายให้กับเครื่องมือประมงของชาวประมงพื้นบ้าน การจับทรัพยากรสัตว์น้ำขนาดเล็ก ตลอดจนสิ่งแวดล้อม และปัญหาการทำประมงนอกน่านน้ำไทยของเรือประมงไทย เนื่องจากการที่เรือประมงไทยมีการไปรุกล้ำน่านน้ำของประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น มาเลเชีย อินโดนีเชีย พม่า ตลอดจนน่านน้ำอื่นๆ เช่น เยเมน โซมาเลีย แม้แต่ในทะเลสากล เช่นมหาสมุทรอินเดีย ทำให้มีการเรียกร้องให้ประเทศไทยควบคุมกิจกรรมของเรือประมงไทยดังกล่าว ปัญหาเหล่านี้นับวันจะรุนแรงมากขึ้นจนเกิดกระแสต่อต้านในกลุ่ม NGO ไม่ว่าจะเป็น Greenprece, The Gradain, EJF ทั้งในประเด็นการทำประมงผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ ทำให้เกิดคำถามจากทั่วโลกถึง “ความรับผิดชอบของประเทศไทย”
จากปัญหาที่เกิดขึ้นกรมประมงได้มีแนวคิดที่จะนำระบบ VMS เข้ามาทดลองใช้ในการบริหารจัดการเรือประมงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 แต่ไม่สามารถจะดำเนินการได้เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมายในขณะนั้น(พรบ.การประมง 2490) และผลจากการไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมายสำหรับเรือประมงนอกน่านน้ำทำให้ประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการตามพันธกรณีในฐานะสมาชิก IOTC ต่อมา ภายใต้พระราชกำหนดการประมง 2558 ได้ตราบทบัญญัติให้อำนาจกับภาครัฐในการกำหนดขนาดเรือประมงที่จะต้องติดตั้งระบบติดตามดังกล่าว กรมประมงจึงได้กำหนดให้เรือประมงตั้งแต่ขนาด 30 ตันกรอส ขึ้นไปต้องติดระบบ VMS ดังกล่าว เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าเรือกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีประสิทธิภาพในการทำประมงสูง และมีผลประกอบการมากพอในการจ่ายค่าบริการที่จะเกิดขึ้น(ประมาณ 1,000-2,000 บาท/เดือน) ตลอดจนเป็นเรือประมงที่มีความเสี่ยงที่จะออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต
ผลของการที่เรือประมงขนาดใหญ่มีการติดตั้ง VMS ส่งผลทำให้ชาวประมงไม่กล้ารุกล้ำเข้าไปทำการประมงในเขตประมงชายฝั่ง โดยเห็นได้จาก 14 เดือนที่ผ่านมา (วันที่ 1 เมษายน 2561 – 31 พฤษภาคม 2562) มีเรือประมงที่ติด VMS ออกไปทำการประมง 367,187 เที่ยว แต่มีเรือที่ถูกจับเนื่องจากเข้าทำการประมงในเขตชายฝั่งหรือเขตห้ามทำการประมงเพียง 41 คดี จะเห็นได้ชัดว่าชาวประมงส่วนใหญ่ปฎิบัติตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามยังมีเรือประมงบางกลุ่มที่ชอบทำการประมงแบบเลาะเขตซึ่งหากเผลอหลุดเข้าไปในเขตอาจเป็นคดีได้ และผลลัพท์ที่เกิดขึ้นที่เห็นชัดเจนจากการที่เรือประมงขนาดใหญ่ไม่เข้าทำการประมงในเขตชายฝั่ง คือทรัพยากรสัตว์น้ำในบริเวณชายฝั่งทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น และชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้และการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นมาเลเชีย อินโดนีเชีย พม่า ได้ให้การยอมรับประเทศไทยในฐานะ “รัฐเจ้าของธง” ในการควบคุมเรือประมงไทยไม่ให้ไปลุกล้ำน่านน้ำเพื่อนบ้าน
แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีความพยายามที่จะ “เลี่ยง” ติดตั้ง VMS บนเรือประมงเห็นได้จากในรอบ 14 เดือนที่ผ่านมาพบว่ามีคดีที่เรือประมงมีการย้าย VMS ของตนเองไปติดตั้งยังเรือประมงลำอื่น ทั้งสิ้น 8 คดี ซึ่งการกระทำดังกล่าวแสดงถึง “เจตนา” ในการที่จะกระทำผิดอย่างชัดเจน รวมถึงเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นแสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า “ VMS มีความสำคัญมากเพียงใด ในการก่อให้เกิดความเป็นธรรม”
อธิบดีกรมประมง กล่าวว่าทิ้งท้ายว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมาไม่ได้ “อยาก” แต่เป็นการ “แก้ไขปัญหา” ที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานมาในอดีต เพื่อก่ออนุรักษ์ทรัพยากรบริเวณชายฝั่ง และที่สำคัญที่สุดคือการสร้าง “ความเป็นธรรม” ในการทำการประมง อย่างไรก็ตามไม่ว่า “กฎ” จะออกมาน้อยหรือมากเพียงใดหากมีคนพร้อมที่จะ “แหกกฎ ระเบียบ” เพื่อผลตอบแทนที่สูงกว่าซึ่งเป็นการเอาเปรียบชาวประมงด้วยกัน และทำให้ต้องมีกติกาที่รัดกุมเพิ่มมากขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องได้รับผลกระทบมากขึ้นด้วย แต่หากทุกคน “ร่วมมือ ร่วมใจ” กันอย่างแท้จริงแล้ว กฎระเบียบอาจไม่จำเป็น อนาคตการประมงทะเลของไทยก็จะมุ่งไปสู่ความยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับของประเทศเพื่อนบ้านและสากล อันจะก่อให้เกิดการยอมรับเรือประมงไทย หรือ ผู้ประกอบการประมงไทยเข้าไปทำการประมงในน่านน้ำต่างประเทศ
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ / 31 กรกฎาคม 2562