รัฐมนตรีเกษตรฯ เร่งแก้ปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งปีนี้อ่างเก็บน้ำที่เก็บน้ำต้นทุนสำหรับผลิตน้ำประปาของอำเภอเมืองแห้งขอด ด้านกรมชลประทานแก้ปัญหาโดยการขุดร่องชักน้ำมาเติม ส่วนกรมฝนหลวงฯ ปฎิบัติการทำฝนต่อเนื่องเพื่อเติมน้ำในอ่าง
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯ ไปยังอ่างเก็บน้ำลำพอก อำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเร่งแก้ปัญหา โดยกล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกรมการข้าวบูรณาการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน ทั้งนี้เรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุดคือ การจัดหาแหล่งน้ำเสริมให้แก่อ่างเก็บน้ำหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีน้ำไหลลงอ่างฯ น้อย เนื่องจากฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 29% ซึ่งกรมชลประทานรายงานว่า แผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ปริมาตรน้ำเก็บกัก 1 พฤษภาคมถึง 30 กรกฎาคม 62 มีทั้งสิ้น 2,565 ล้านลบ.ม. เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 1,394 ล้านลบ.ม. ความต้องการใช้น้ำตลอดฤดูฝนปี 62 รวม 4,106 ล้านลบ.ม. เป็นน้ำชลประทาน 2,258 ล้านลบ.ม. และน้ำฝน 1,848 ล้านลบ.ม. จัดสรรไปแล้ว 914 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 22% คงเหลือปริมาตรน้ำที่ต้องจัดสรรจากแผน 3,192 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 78% เป็นน้ำชลประทาน 1,436 ล้านลบ.ม. และน้ำฝน 1,756 ล้านลบ.ม. สำหรับแผนเพาะปลูกข้าวฤดูฝนกำหนดไว้ 3.41 ล้านไร่ เพาะปลูกไปแล้ว 3.14 ล้านไร่ คิดเป็น 92 % ของแผนฯ ซึ่งการบริหารจัดการตามแผนที่วางไว้คือ การปลูกพืชให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมเพื่อให้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอใช้ตลอดฤดูฝนและเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึง โดยพื้นที่เฝ้าระวังภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัดได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม และสุรินทร์
ทางด้านดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบัน(30 ก.ค.62) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 12 แห่ง มีปริมาตรน้ำเก็บกัก 2,565 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 218 แห่ง มีปริมาตรน้ำเก็บกัก 549 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 246 แห่ง มีปริมาตรน้ำเก็บกัก 44 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 1,394 ล้าน ลบ.ม
สำหรับจังหวัดสุรินทร์ (ข้อมูลวันที่ 30 ก.ค.62) มีปริมาณน้ำเก็บกักจากอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 26 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 346 แห่งรวมกัน 66 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 25 ล้าน ลบ.ม. สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 0.806 ล้าย ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 4 ของความจุอ่าง และอ่างเก็บน้ำห้วยอำปึล ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำ 0.261 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 0.94 ส่วนสาเหตุการเกิดภัยแล้งสืบเนื่องจากมีปริมาณฝนน้อยในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา โดยมีปริมาณฝนตกเพียง 900 มม. ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ 17 แห่ง มีเพียง 131 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของค่าเฉลี่ย จนถึงปัจจุบันมีปริมาณฝนสะสม 399 มม. มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯเพียง 13 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 2 ของค่าเฉลี่ย กรมชลประทาน ได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือ โดยทำการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำอำปึล ปริมาณ 0.50 ล้าน ลบ.ม. พร้อมขุดร่องชักน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงเข้าสู่จุดสูบน้ำการประปาและสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำราชมงคลลงห้วยเสนง ปริมาณ 0.25 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งผันน้ำจากบ่อหิน ปริมาณ 20 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำช่วยเหลือได้ 21 ล้าน ลบ.ม. สำหรับสำรองไว้ผลิตน้ำประปาเลี้ยงอำเภอเมืองสุรินทร์ นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับกรมทรัพยากรน้ำบาดล เพื่อเจาะน้ำบาดาลเติมน้ำสู่อ่างฯ รวมถึงจะขุดลอกแก้มลิงเกาะแก้วและป่าเวย อำเภอสำโรงทาบ ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักของจังหวัดสุรินทร์อีกทางหนึ่งด้วย แม้ว่าบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีปริมาณฝนเพิ่มแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มากนัก จึงขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด และขอความร่วมมือเกษตรงดทำการเพาะปลูกต่อเนื่อง หรือทำการเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร สำหรับพื้นที่ที่เพาะปลูกแล้ว ขอให้เกษตรในพื้นที่ใช้น้ำตามรอบเวรตัวเองอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปริมาณน้ำมี่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้อย่างทั่วถึง
ในการนี้ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะได้ร่วมกันปล่อยขบวนคราวานรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 17 คัน รถบรรทุกน้ำขนาด 12,000 ลิตร อีกจำนวน 3 คัน พร้อมรถขุดจำนวน 1 คัน และเครื่องสูบน้ำอีกจำนวน 13 เครื่อง รถน้ำจากส่วนท้องถิ่นจำนวน 14 คัน และรถน้ำจากมณฑลทหารบกที่ 25 อีกจำนวน 2 คัน เพื่อใช้ในการช่วยเหลือประชาชนที่ขาดแคลนน้ำเพิ่มเติมอีกด้วย