“พัชรวาท” ลุยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำให้ชาวอุดรฯ และหนองคาย ในการประชุม ครม. นอกสถานที่นัดแรก

วันที่ 3 ธันวาคม 2566 เวลา 15.00 น. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วย ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วย รมว.ทส. นายโกเมนทร์ ทีฆธนานนท์ ที่ปรึกษา รมว.ทส. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ และคณะผู้บริหาร ทส. ลงพื้นที่ส่งมอบโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกล เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ขาดแคลนน้ำหรือน้ำเค็ม รูปแบบที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ให้กับประชาชนบ้านถ่อนใหญ่ หมู่ที่ 7 ตําบลนาข่า อําเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำกิน – น้ำใช้ให้กับชุมชนกว่า 263 ครัวเรือน ได้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรกว่า 513,920 ลูกบาศก์เมตรต่อปี

โดยมี นายศรัณย์ศักด์ ศรีเครือเนตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และพระครูธีรธรรมสาร ธัมมสาโร เจ้าอาวาสวัดป่าหลวง (ธ) เจ้าคณะตำบลนาข่า – บ้านขาว รับมอบโครงการร่วมกับนายกเทศมนตรีตำบลนาข่า และเครือข่ายกลุ่มผู้ใช้น้ำที่จะเป็นผู้ดูแลรักษาระบบต่อไป

นอกจากนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท และคณะ ยังได้เดินทางไปรับฟังปัญหาการขาดแคลนน้ำของชาวบ้านในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

โดยมี นายชาญชัย คงทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัด และประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้มีจำนวนประชากรมาใช้บริการในเขตพื้นที่มากกว่า 30,000 คน แต่ระบบประปาที่มีอยู่เดิมมีการใช้งานมาแล้วกว่า 33 ปี มีสภาพชำรุด มีปริมาณความจุ 1,500 ลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ประชากรที่เพิ่มขึ้นมีความต้องการใช้น้ำ 2,547 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่งผลให้พื้นที่เทศบาลเมืองท่าบ่อไม่สามารถผลิตน้ำประปาที่มีคุณภาพให้บริการประชาชน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และชุมชนโดยรอบได้อย่างเพียงพอ

โดย พล.ต.อ.พัชรวาท ได้รับข้อเสนอโครงการจัดหาน้ำบาดาล จากนายกเทศมนตรีเมืองท่าบ่อ พร้อมให้คำมั่นกับชาวบ้านว่าจะนำเสนอโครงการดังกล่าว พร้อมข้อเสนอแนวทางการศึกษาโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ขาดแคลนน้ำหรือน้ำเค็ม ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่มีการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ครั้งแรก พิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนโดยเร่งด่วน ในวันพรุ่งนี้ (4 ธันวาคม 2566) ณ จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ให้ประชาชนอยู่ดี กินดี อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำกินน้ำใช้ หรือน้ำเพื่อการเกษตร ตามนโยบายรัฐบาล